ปรมินทร – ปรเมนทร (บาลีวันละคำ 1,602)
ปรมินทร – ปรเมนทร
“ยิ่งใหญ่อย่างยอดเยี่ยม”
– ใช้ต่างกันอย่างไร
คำหลักคือ “ปรมินทร” ประกอบด้วย ปรม + อินทร
(๑) “ปรม”
อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :
(1) ปร (ผู้อื่น) + มุ (ธาตุ = ผูกไว้) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มุ > ม)
: ปร + มุ > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกผู้อื่นไว้ (ด้วยความดี)”
(2) ปร (ผู้อื่น) + มชฺช (ธาตุ = ขัดเกลา, ชำระ) + อ ปัจจัย, ลบ ชฺช ที่สุดธาตุ
: ปร + มชฺช > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ขัดเกลาผู้อื่นให้หมดจด”
(3) ปร (ฝั่ง, นิพพาน) + มี (ธาตุ = ไป, ถึง, บรรลุ) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มี > ม)
: ปร + มี > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “คุณเครื่องถึงนิพพาน”
(4) ปร (โลก, โลกหน้า) + มุ (ธาตุ = รู้, กำหนดรู้) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มุ > ม)
: ปร + มุ > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “คุณเครื่องกำหนดรู้โลก”
(5) ปร (คุณความดี) + มิ (ธาตุ = ชั่ง, ตวง, วัด, นับ) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มิ > ม)
: ปร + มิ > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “คุณเครื่องตักตวงความดีไว้”
(6) ปร (ปรปักษ์, ข้าศึก) + มิ (ธาตุ = ทำลาย, เบียดเบียน) + อ ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มิ > ม)
: ปร + มิ > ม + อ = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “คุณเครื่องทำลายปรปักษ์”
(ความหมายตามรากศัพท์อื่นๆ ของ “ปรม” ดูเพิ่มเติมที่ : “บรมครู” บาลีวันละคำ (1,142) 11-7-58)
“ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)
“ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น ขี้เกียจบรม บรมขี้เกียจ”
(๒) “อินทร”
บาลีเป็น “อินฺท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
1) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ อิทิ + อ ลบ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)
: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง” คือ “ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง”
2) อินฺท (ธาตุ = ประกอบ) + อ ปัจจัย
: อินฺท + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่”
“อินฺท” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา (lord, chief, king)
(2) พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท (The Vedic god Indra)
บาลี “อินฺท” สันสกฤตเป็น “อินฺทฺร” ไทยมักใช้ตามสันสกฤตเป็น “อินทร” (ใช้เป็น “อินท” ก็มี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อินทร-, อินทร์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช; ผู้เป็นใหญ่. (ส.; ป. อินฺท).”
ปรม + อินทร = ปรมินทร
“ปรมินทร” แผลง อิ เป็น เอ คือ อินทร เป็น เอนทร จึงได้รูปเป็น “ปรเมนทร”
โปรดสังเกตว่า คำนี้ไม่มีการันต์ที่ –ร คือไม่ได้เขียนเป็น “…ปรมินทร์…” หรือ “…ปรเมนทร์…”
“ปรมินทร” และ “ปรเมนทร” เป็นคำที่มีอยู่ในพระปรมาภิไธยวรรคแรกที่ว่า –
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทร …”
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร …”
หลักนิยม :
มีหลักนิยมว่า พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ในมหาจักรีบรมราชวงศ์ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “พระบาทสมเด็จพระปรม–” –
ถ้าเป็นรัชกาลในลำดับเลขคู่ จะเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร–”
ถ้าเป็นรัชกาลในลำดับเลขคี่ จะเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรมินทร–”
ทั้งนี้ปรากฏเป็นหลักฐานตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ดังนี้ –
รัชกาลที่ 4: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ
รัชกาลที่ 5: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณฯ
รัชกาลที่ 6: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ
รัชกาลที่ 7: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ
รัชกาลที่ 8: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ
รัชกาลที่ 9: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
“ปรมินทร – ปรเมนทร” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่อย่างยิ่ง, ผู้เป็นใหญ่สูงสุด หรือ “ผู้ยิ่งใหญ่อย่างยอดเยี่ยม”
…………….
: อำนาจ อาจทำให้มนุษย์เป็นผู้ยิ่งใหญ่ได้
: แต่อำนาจที่ปราศจากธรรม หาอาจทำให้ยิ่งใหญ่อย่างยอดเยี่ยมได้ไม่
————-
(ตามคำขอของ ผจญ จันทร์ทาทอง “ทหารของพระราชา” แห่งราชนาวีไทย)
23-10-59