บาลีวันละคำ

ธุมเกตุ (บาลีวันละคำ 1,603)

ธุมเกตุ

อ่านว่า ทุ-มะ-เกด (ตาม พจน.54)

ประกอบด้วย ธุม + เกตุ

(๑) “ธุม

บาลีเป็น “ธูม” (ธู- สระอู) อ่านว่า ทู-มะ รากศัพท์มาจาก ธู (ธาตุ = หวั่นไหว) + ปัจจัย

: ธู + = ธูม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เคลื่อนไหวขึ้นไปข้างบน” หมายถึง ควันไฟ, ไอ (smoke, fumes)

(๒) “เกตุ

บาลีอ่านว่า เก-ตุ รากศัพท์มาจาก –

1) กิตฺ (ธาตุ = อยู่) + อุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ กิ-(ตฺ) เป็น เอ (กิตฺ > เกต)

: กิตฺ + อุ = กิตุ > เกตุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่อยู่ข้างบน” (หมายถึงธงที่ถูกชักไว้บนที่สูง)

2) (น้ำ) + อิ (ธาตุ = รู้) + ตุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ

: + อิ = กิ + ตุ = กิตุ > เกตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่ามีน้ำ” (คือธงที่ปักไว้ที่บ่อน้ำ) หรือ “ผ้าเป็นเครื่องไปสู่ท้องน้ำ” (คือธงที่เป็นเครื่องหมายการเดินเรือ)

เกตุ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) รัศมี, แสงสว่าง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง (ray, beam of light, splendour, effulgence)

(2) ธง, ธงชัย, เครื่องหมาย, เครื่องหมายแสดงความรุ่งโรจน์ (flag, banner, sign, sign as token of splendour)

ธูม + เกตุ = ธูมเกตุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีควันเป็นธง” (คือมีควันเป็นเครื่องหมาย)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธูมเกตุ” ตามศัพท์ว่า “whose sign is smoke” (สิ่งที่มีควันเป็นเครื่องหมาย) และ “having smoke as its splendor” (มีควันเป็นความรุ่งโรจน์) หมายถึง ไฟ

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ธูมเกตุ” ว่า ไฟ, ดาวหาง, ดาวตก

สันสกฤตมีคำว่า “ธูมเกตุ” เหมือนบาลี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ธูมเกตุ : (คำนาม) ดาวหาง; อุกกาบาต, ดาวตก; ไฟ; เกตุหรืออวบาตของดาวพระเคราะห์อันโรปยติเปนบุรุษ, ‘มูรติธูมเกตุ’ ก็เรียก; a comet, a falling-star; fire; the personified descending node.”

ธูมเกตุ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ธุมเกตุ” (ธุ– สระอุ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธุมเกตุ : (คำนาม) ไฟ, ดาวหาง, ดาวตก, สิ่งที่เป็นหมอกเป็นควันเกิดขึ้นในอากาศผิดธรรมดามีรูปคล้ายธงเป็นต้น. (ป., ส. ธูมเกตุ).”

…………..

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามีกล่าวไว้ว่า เมื่อบุคคลสำคัญของโลก คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จอุบัติขึ้นในโลกก็ดี ทรงกระทำการครั้งสำคัญก็ดี เสด็จดับขันธปรินิพพานหรือเสด็จสวรรคตก็ดี ดินฟ้าอากาศในสกลจักรวาลย่อมดำแดงอาการพิปริตเป็นนิมิตหมายให้ชาวโลกทั้งปวงได้รับรู้ เป็นต้นว่าใช่ฤดูฝนก็ฝนตก ใช่ฤดูหนาวก็หนาวเย็นเยือก พืชพรรณใช่ฤดูออกดอกผลก็ออกดอกผล เป็นมหัศจรรย์บันดาล ดังนี้แล

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านย่อมว่า –

: บุญบารมีของมหาบุรุษ

: สะท้านโลกมนุษย์ สะเทือนโลกสวรรค์

—————

(โดยเมตตาแนะนำของพระคุณท่านพระมหารุ่งอรุณ อรุณโชติ)

24-10-59