บาลีวันละคำ

ธรรมคาถา – ธรรมกถา (บาลีวันละคำ 1,605)

ธรรมคาถาธรรมกถา

ต่างกันอย่างไร

ธรรม + คาถา = ธรรมคาถา

ธรรม + กถา = ธรรมกถา

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

(๒) “คาถา

รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คา + = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)

ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์

คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน

คาถา ในความหมายว่า “ร้อยกรอง” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์

ตัวอย่างคาถาหรือฉันท์ 1 บท ในภาษาบาลี เช่นปัฐยาวัตฉันท์ มีบาทละ 8 พยางค์ –

อาโรคฺยปรมา  ลาภา

สนฺตุฏฺฐีปรมํ  ธนํ

วิสฺสาสปรมา  ญาติ

นิพฺพานปรมํ  สุขํ.

คาถา” แปลว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” ความประสงค์ของการแต่งถ้อยคำให้เป็นคาถา ก็เพื่อจะได้ขับขานเป็นท่วงทำนองให้ชวนฟังกว่าการพูดธรรมดานั่นเอง

ในภาษาไทย คำว่า “คาถา” มักเข้าใจกันว่า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เสกเป่าหรือร่ายมนต์ขลังให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการ

เพื่อเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง โปรดดูความหมายของ “คาถา” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

คาถา : (คำนาม) ‘คาถา,’ กวิตา, คำประพันธ์; โศลก; ฉันทัส, คำฉันท์, พฤตต์; ดาล; เพลง, คำว่า ‘คีต, คีติ, รพ, ราพ, รวะ, ราวะ, เคยะ, คานะ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ประกฤตหรือภาษาใดภาษาหนึ่งซึ่งมิใช่สํสกฤต; ชื่อของอารยาฉันท์ (คำประพันธ์ซึ่งมีหกสิบอักษรมาตรา, จัดไว้ต่างๆ กัน); a verse; a stanza, metre; rhythm; a song, a chant; Prākrit or any language not Sanskrit; the name of the Āryā metre (a verse which contains sixty syllabic instants, variously arranged).”

จะเห็นว่าในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายไปในทางคำเสกเป่าเพื่อเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด

เหตุที่ “คาถา” ในภาษาไทยความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิมน่าจะเป็นเพราะคนไทยนับถือภาษาบาลีว่าเป็นคำพระ เมื่อเห็นคำสอนที่แต่งเป็น “คาถา” มีความหมายในทางดี จึงน้อมมาเป็นกำลังใจ เดิมก็คงเอามาท่องบ่นด้วยความพอใจในความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อนานเข้าก็ทิ้งความเข้าใจในหลักคำสอนที่มีอยู่ในถ้อยคำอันเป็น “คาถา” นั้นๆ คงยึดถือแต่เพียงถ้อยคำหรือเสียงโดยเชื่อว่าเมื่อท่องบ่นแล้วจะเกิดผลดลบันดาลให้สำเร็จในทางนั้นๆ คำว่า “คาถา” จึงกลายความหมายเป็นคำขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด

(๓) “กถา

รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้

กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)

(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)

(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)

(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)

(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)

(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)

ความแตกต่าง :

คาถา : คำที่แต่งเป็นกาพย์กลอน (a verse, stanza, line of poetry)

กถา : คำพูดทั่วไป (talking, speech, word)

ธรรมคาถา = กาพย์กลอนสอนธรรมะ

ธรรมกถา = การกล่าวธรรมะ, การแสดงธรรมะทั่วไป

โดยนัยนี้ “ธรรมกถา” อาจเป็นการแสดงธรรมด้วยคำพูดตามปกติหรือมีกาพย์กลอนด้วยก็ได้ (ตามปกติจะเป็นคำพูดธรรมดา)

แต่ “ธรรมคาถา” หมายถึงการแสดงธรรมเป็นกาพย์กลอนเท่านั้น

ในกำหนดการบำเพ็ญกุศลเกี่ยวกับศพจะพบคำว่า “พระสงฆ์สวดธรรมคาถา” นั่นคือสวดบทกลอนที่มีเนื้อหาเป็นการสอนคติธรรมต่างๆ (มักเกี่ยวกับชีวิตและความตาย)

……………

ตัวอย่าง “ธรรมคาถา

อะตีตัง  นานวาคะเมยยะ

นัปปะฏิกังเข  อะนาคะตัง

ยะทะตีตัมปะหีนันตัง

อัปปัตตัญจะ  อะนาคะตัง.

(ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว

ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว

และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง)

ปัจจุปปันนัญจะ  โย  ธัมมัง

ตัตถะ  ตัตถะ  วิปัสสะติ

อะสังหิรัง  อะสังกุปปัง

ตัง  วิทธามะนุพรูหะเย.

(ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน

ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ

บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ

ให้ปรุโปร่งเถิด)

ยะถาปิ  เสลา  วิปุลา

นะภัง  อาหัจจะ  ปัพพะตา

สะมันตา  อะนุปะริเยยยุง

นิปโปเถนตา  จะตุททิสา.

(ภูเขาหินล้วน สูงจรดฟ้า

กลิ้งบดสัตว์มาในสี่ทิศ

หมุนเวียนอยู่โดยรอบ แม้ฉันใด)

เอวัง  ชะรา  จะ  มัจจุ  จะ

อะธิวัตตันติ  ปาณิโน

ขัตติเย  พราหมะเณ  เวสเส

สุทเท  จัณฑาละปุกกุเส,

(ความแก่ด้วย ความตายด้วย ก็เหมือนฉันนั้น

ย่อมเป็นไปทับ คือครอบงำซึ่งสัตว์ทั้งหลาย

คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร

คนจัณฑาล และคนเสวยทุกข์อยู่ต่างๆ)

นะ  กิญจิ  ปะริวัชเชติ

สัพพะเมวาภิมัททะติ.

(ความแก่ตายไม่ละเว้นใครๆ ไว้เลย

ย่อมย่ำยีครอบงำให้อยู่ในอำนาจทั้งสิ้น

เหมือนภูเขาหินล้วนกลิ้งบดสัตว์มาในสี่ทิศฉะนั้น)

อัปปะกา  เต  มะนุสเสสุ

เย  ชะนา  ปาระคามิโน

อะถายัง  อิตะรา  ปะชา

ตีระเมวานุธาวะติ.

(ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย

ผู้ที่ถึงฝั่งพระนิพพานมีน้อยนัก

หมู่มนุษย์นอกนั้น

ย่อมวิ่งเลาะอยู่ตามชายฝั่งนี่เอง)

เย  จะ โข  สัมมะทักขาเต

ธัมเม  ธัมมานุวัตติโน

เต  ชะนา  ปาระเมสสันติ

มัจจุเธยยัง  สุทุตตะรัง.

(ก็ชนเหล่าใดประพฤติสมควรแก่ธรรม

ในธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว

ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน

ข้ามพ้นบ่วงแห่งมัจจุที่ข้ามได้ยากนัก)

…………..

: กล่าวคำคมร้อยคำ ไม่เท่ากล่าวสัจธรรมหนึ่งครั้ง

: กล่าวสัจธรรมร้อยคำ ไม่เท่าบรรลุธรรมหนึ่งครั้ง

26-10-59