พระบรมศพ (บาลีวันละคำ 1,604)
พระบรมศพ
อ่านว่า พฺระ-บอ-รม-มะ-สบ
ประกอบด้วย พระ + บรม + ศพ
(๑) “พระ”
มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่องพระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์
(๒) “บรม”
บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย” (2) “ยินดีในความยิ่งใหญ่” (3) “รักษาความสูงสุดของตนไว้” (ดูรายะเอียดที่ “พระบรมโกศ” : บาลีวันละคำ (1,593) 14-10-59)
“ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)
“ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”
(๓) “ศพ”
บาลีเป็น “ฉว” (ฉะ-วะ) รากศัพท์มาจาก –
1) ฉวฺ (ธาตุ = เน่า, เปื่อย; ตัด, ขาด) + อ ปัจจัย
: ฉวฺ + อ = ฉว แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ร่างที่เน่าเปื่อย”
(2) “ร่างที่ตัดขาดจากอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และศรัทธาคุณเป็นต้น” (คือไม่ต้องกินต้องใช้อะไร และบำเพ็ญคุณธรรมใดๆ ไม่ได้อีกต่อไป)
(3) “ร่างที่ตัดความปีติโสมนัสใจของคนที่เห็นหรือที่ได้สูดดม” (คือคนปกติได้เห็นหรือได้กลิ่น ย่อมไม่เกิดความยินดีพอใจ)
2) สวฺ (ธาต = แปรเปลี่ยน) อ ปัจจัย, แปลง ส เป็น ฉ (สวฺ > ฉว)
: สวฺ + อ = สว > ฉว แปลตามศัพท์ว่า “ร่างที่แปรเปลี่ยนไป”
“ฉว” (ปุงลิงค์) ในบาลี ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ศพ (a corpse) แต่ถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง เลว, ต่ำ, น่าสมเพช, ชั่วช้า, เลวทราม (vile, low, miserable, wretched)
“ฉว” ในบาลีเป็น “ศว” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “ศว” ไว้ดังนี้ –
(1) ศว : (ธาตุ) ไปหรือเข้าหา; เปลี่ยน, แปลง, แลก; แช่ง, ด่า, ศาป; to go or approach; to alter, to change; to curse.
(2) ศว : (คำนาม) ‘ศพ,’ ผี, ร่างอันสิ้นลมปราณแล้ว; a corpse, a dead body.
(3) ศว : (คำนาม) น้ำ; water.
พระ + บรม + ศพ = พระบรมศพ แปลว่า “ร่างอันสิ้นลมปราณแล้วของท่านผู้มีคุณธรรมยอดเยี่ยมผู้ประเสริฐ” หมายถึง ศพของพระมหากษัตริย์
ข้อสังเกต :
ศพของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า “พระบรมศพ”
แต่ศพของพระพุทธเจ้า นิยมเรียกว่า “พระพุทธสรีระ”
อย่างไรก็ตาม ในวรรณคดีอาจใช้ถ้อยคำเรียก “ศพของพระพุทธเจ้า” ได้หลากหลาย เช่นคัมภีร์พระปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีทั้งคำว่า “พระศพ” “พระพุทธสรีรศพ” และ “พระบรมศพ”
……………..
: คุณธรรมทำให้คนต่างจากสัตว์
: และคุณธรรมนั่นแลที่ทำให้คนต่างจากคน
25-10-59