ทอดผ้าบังสุกุล (บาลีวันละคำ 1,606)
ทอดผ้าบังสุกุล
ทำอะไร?
ประกอบด้วย ทอด + ผ้าบังสุกุล
คำบาลีคือ “บังสุกุล”
“บังสุกุล” บาลีเป็น “ปํสุกูล” อ่านว่า ปัง-สุ-กู-ละ
(๑) “ปํสุ” รากศัพท์มาจาก ปํสฺ (ธาตุ = พินาศ, เสียหาย) + อุ ปัจจัย
: ปํสฺ + อุ = ปํสุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังของสวยงามให้เสียไป” หมายถึง ฝุ่น, ขยะ, สิ่งสกปรก, ดินร่วน (dust, dirt, soil)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “ปำสุ” บอกไว้ว่า –
“ปำสุ : (คำนาม) ‘ปางสุ,’ ธุลี, ละอองผง ปุ๋ย; dust; manure.”
(๒) “ปํสุกูล” รากศัพท์มาจาก ปํสุ (ฝุน, ขยะ) + กุ (เลว, น่าเกลียด) + อุลฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อุ ที่ กุ (กุ > ก) ทีฆะ อุ ที่ อุ-(ลฺ) เป็น อู (อุลฺ > อูล)
: ปํสุ + กุ = ปํสุกุ > ปํสุก + อุลฺ = ปํสุกุล > ปํสุกูล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่ถึงภาวะที่น่าเกลียดเหมือนฝุ่นละออง” หมายถึง ผ้าเปื้อนฝุ่น, ผ้าจากกองขยะ (rags from a dust heap)
“ปํสุกูล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บังสุกุล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บังสุกุล : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ หรือที่ทอดไว้หน้าศพ หรือที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์หรือผ้าภูษาโยงที่ต่อจากศพด้วยการปลงกรรมฐานว่า ผ้าบังสุกุล, เรียกกิริยาที่พระภิกษุชักผ้าเช่นนั้นว่า ชักบังสุกุล, (ปาก) บังสกุล ก็ว่า. (ป. ปํสุกูล ว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น; ส. ปําสุกูล).”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเล็กน้อย เป็น –
“บังสุกุล : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุชักจากศพ หรือที่ทอดไว้หน้าศพ หรือที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์หรือผ้าโยงที่ต่อจากศพด้วยการปลงกรรมฐาน ว่า ผ้าบังสุกุล, เรียกกิริยาที่พระภิกษุชักผ้าเช่นนั้น ว่า ชักบังสุกุล. (ป. ปํสุกูล ว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น; ส. ปําสุกูล).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “บังสุกุล” ไว้ดังนี้ –
“บังสุกุล : ผ้าบังสุกุล หรือ บังสุกุลจีวร; ในภาษาไทยปัจจุบัน มักใช้เป็นคำกริยา หมายถึงการที่พระสงฆ์ชักเอาผ้าซึ่งเขาทอดวางไว้ที่ศพ ที่หีบศพ หรือที่สายโยงศพ โดยกล่าวข้อความที่เรียกว่า คำพิจารณาผ้าบังสุกุล ดังนี้
อนิจฺจา วต สงฺขารา……..อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ….เตสํ วูปสโม สุโข.”
ทอด + ผ้าบังสุกุล = ทอดผ้าบังสุกุล
“ทอดผ้าบังสุกุล” คือทำอะไร :
พจน.54 มีคำว่า “ทอดผ้า” บอกไว้ดังนี้ –
“ทอดผ้า : (คำกริยา) วางผ้าไตร สบง หรือจีวรไว้บนด้ายสายสิญจน์หรือภูษาโยง เพื่อให้พระภิกษุชักบังสุกุล.”
“ทอด” ในที่นี้หมายถึง วางลงไว้
ต่างจาก “ถวาย” ที่หมายถึง ส่งให้รับ
ผ้าบังสุกุล ใช้วิธี “ทอด” ไม่ใช้วิธี “ถวาย”
“ทอดผ้า” เป็นคำที่พูดลัดตัดมาจาก “ทอดผ้าบังสุกุล” นั่นเอง
สมัยพุทธกาลผ้าหายาก ก่อนที่จะมีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับจีวรสำเร็จรูปที่มีผู้ถวาย พระสงฆ์จะต้องเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาซักแล้วเย็บเป็นจีวรใช้นุ่งห่ม
ชาวบ้านที่มีศรัทธา ปรารถนาจะสงเคราะห์พระมิให้ลำบากด้วยการแสวงหาผ้า จึงเอาผ้าดีๆ ไปทอด (ทอด คือวาง) ไว้ตามทางที่พระผ่าน เพื่อให้พระเก็บเอาไปทำจีวร
จึงเป็นที่มาของการ “ทอดผ้าป่า” และ “ทอดผ้าบังสุกุล” ในงานศพ
ข้อสังเกต :
โปรดสังเกตว่า ใน พจน.54 ตัดคำว่า “(ปาก) บังสกุล ก็ว่า” ในคำนิยามของ พจน.42 ออกไป
นั่นแปลว่า พจนานุกรมฯ ไม่ยอมรับอีกต่อไปว่า คำว่า “บังสุกุล” นี้ใช้ว่า “บังสกุล” ก็ได้ โดยอยู่ในฐานะเป็น “ภาษาปาก”
เท่ากับยืนยันว่า คำนี้ต้องใช้อิงรูปคำเดิมในบาลีว่า “บังสุกุล” เท่านั้น ไม่ใช่ “บังสกุล” (บังสุ– ไม่ใช่ บังส-)
……………
ดูก่อนภราดา!
: ชาติที่เจริญแล้วย่อมพัฒนาความไม่รู้ขึ้นไปหามาตรฐาน
: ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้หรือความ “รักง่าย”
27-10-59