บาลีวันละคำ

จุลกฐิน (บาลีวันละคำ 877)

จุลกฐิน

จุลกฐิน” ประกอบด้วย จุล + กฐิน = จุลกฐิน อ่านว่า จุน-ละ-กะ-ถิน

(๑) “จุล

บาลีเป็น “จุลฺล” อ่านว่า จุน-ละ (แผลงเป็น “จูฬ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = สะสม) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ จิ เป็น อุ, ซ้อน

: จิ > จุ + = จุล + = จุลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาสะสม” หมายถึง เล็ก, น้อย, บาง, ผอม

จุลฺล” ในบาลีมิได้หมายถึงจำนวนหรือปริมาณน้อย แต่หมายถึงขนาดหรือระดับ

ถ้าดูคำแปลในพจนานุกรมบาลี-อังกฤษจะเข้าใจชัด คือ “จุลฺล” แปลว่า small, minor คำตรงข้ามก็คือ “มหา” หรือ great, major

จุลฺล” ในบาลีมักใช้คู่กับ “มหา” เป็นชื่อคัมภีร์หรือชื่อพระสูตร เช่น จุลฺลวคฺค คู่กับ มหาวคฺค, จุลฺลนิทฺเทส คู่กับ มหานิทฺเทส กับใช้ประกอบชื่อบุคคลเพื่อแสดงถึงความแตกต่างเหมือนเป็นเอกลักษณ์ เช่น จุลลปันถก คู่กับ มหาปันถก

กรณีเป็นชื่อบุคคลนี้ถ้าเทียบในภาษาไทยพอให้เข้าใจง่ายแบบขำๆ ก็อย่างเช่น ตี๋เล็ก กับ ตี๋ใหญ่

ตี๋เล็ก คือ “จุลตี๋”

ตี๋ใหญ่ ก็คือ “มหาตี๋”

(๒) “กฐิน

บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ ไทยอ่านว่า กะ-ถิน เป็นคำนาม แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง, แนบแน่น, ไม่คลอนแคลน, หนัก, หยาบกร้าน, โหดร้าย (ดูเพิ่มเติมที่ “กฐินสามัคคี (2)” #บาลีวันละคำ (876) 11-10-57)

ในที่นี้ “กฐิน” หมายถึงผ้าที่มีผู้ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้วเพื่อผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเดิม ทั้งนี้เป็นไปตามพุทธานุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระวินัยปิฎก

จุลฺล + กฐิน = จุลฺลกฐิน ภาษาไทยตัด ออกตัวหนึ่ง เขียนว่า “จุลกฐิน

จุลกฐิน” รูปคำเป็นบาลี แต่ไม่พบคำนี้ในคัมภีร์ จึงเป็นบาลีแต่รูป ส่วนความหมายเป็นไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จุลกฐิน : (คำนาม) เรียกพิธีทอดกฐินที่ต้องทําตั้งแต่ปั่นฝ้าย ทอ เย็บ ย้อมผ้ากฐิน และถวายสงฆ์ให้เสร็จในวันเดียว, โดยปริยายหมายความว่า งานที่ต้องทําอย่างชุลมุนวุ่นวายเพื่อให้เสร็จทันเวลาอันจํากัด.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “จุลกฐิน” ไว้ดังนี้ –

จุลกฐิน : “กฐินน้อย”, “กฐินจิ๋ว”, กฐินวันเดียวเสร็จ, พิธีทำบุญทอดกฐินแบบหนึ่งที่ได้พัฒนาขึ้นมาในประเพณีไทย (บางถิ่นเรียกว่ากฐินแล่น) โดยมีกำหนดว่า ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่ปั่นฝ้าย ทอ ตัด เย็บเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง (ตามปกติทำเป็นสบง คงเพราะเป็นผืนเล็กที่สุด ทันได้ง่าย) ย้อม และนำผ้ากฐินไปทอดถวายแก่พระสงฆ์ ให้ทันภายในวันเดียว (พระสงฆ์ได้รับแล้ว ก็จะทำการกรานกฐิน และอนุโมทนาเสร็จในวันนั้นตามธรรมดาของพระวินัย การทั้งหมดของทุกฝ่ายจึงเป็นอันเสร็จในวันเดียวกัน), เหตุที่นิยมทำและถือว่าเป็นบุญมาก คงเพราะต้องสำเร็จด้วยความสามัคคีของคนจำนวนมากที่ทำงานกันอย่างแข็งขันขมีขมันและประสานกันอย่างดียิ่ง; โดยปริยาย หมายถึงงานที่ต้องทำเร่งด่วนอย่างชุลมุนวุ่นวายเพื่อให้เสร็จทันเวลาอันจำกัด

สันนิษฐานความเป็นมา :

สาเหตุที่เกิดจุลกฐินผู้รู้ท่านสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะมีวัดที่ไม่มีใครทอดกฐิน และเจ้าภาพรู้เข้าในวันสุดท้ายที่จะหมดเขตทอดกฐิน (วันสุดท้ายที่จะทอดกฐินได้คือวันกลางเดือน ๑๒ หรือวันลอยกระทง) เมื่อรู้เช่นนั้นก็มีศรัทธาประสงค์จะสงเคราะห์พระให้ได้รับอานิสงส์กฐิน จึงคิดอ่านทอดกฐินกันในเวลาอันจำกัดนั้น

สมัยโบราณต้องทอผ้าใช้กันเอง ผ้าไตรไม่มีขายดาษดื่นเหมือนเดี๋ยวนี้ จึงจำเป็นจะต้องรีบเก็บฝ้ายมาปั่นด้าย ทอผ้า ทำให้เสร็จในวันนั้น มิเช่นนั้นก็ทอดกฐินไม่ทัน

โดยนัยนี้ มีผู้ให้ความหมายคำว่า “จุล” ว่าหมายถึงมีเวลาน้อย จะแห่แหนและทำพิธีทอดให้สนุกสนานเอิกเกริกเต็มที่เหมือนกฐินปกติก็ทำไม่ทันเพราะใช้เวลาหมดไปกับการเตรียมผ้ากฐิน

และโดยนัยนี้เช่นกัน กฐินที่ทอดกันตามปกติจึงเรียกเต็มว่า “มหากฐิน” แต่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “กฐิน” ก็เป็นที่เข้าใจกัน

จุลกฐิน เป็นการแสดงความสามัคคีและแสดงถึงบารมีของเจ้าภาพ ต้องมีคนช่วยกันเต็มที่ และต้องแบ่งหน้าที่กันทำในเวลาอันแสนจะจำกัด ถ้าวางแผนไม่เป็น คุมงานไม่เก่งจริงๆ แล้วเป็นทำไม่สำเร็จ

ข้อเสนอ :

ถ้าอยากจะสนุกในทางบุญ น่าจะมีใครคิดแข่งขันทำจุลกฐินกันบ้าง เป็นการทดสอบและพัฒนาฝีมือทอผ้าด้วย พิสูจน์บารมีและสามัคคีธรรมในการทำความดีด้วย ได้บุญด้วย – ขออนุโมทนาสาธุล่วงหน้า

: แข่งกันทำความดี ไม่มีแพ้

: มีแต่ชนะทุกสถาน

————–

(ตามคำขอของ สุดที่รัก มายเดียร์)

#บาลีวันละคำ (877)

12-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *