บาลีวันละคำ

องค์กฐิน-บริวารกฐิน (บาลีวันละคำ 878)

องค์กฐินบริวารกฐิน

เริ่มจะสับสนกันบ้างแล้ว

ที่คำว่า “กฐิน” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำอธิบายบอกไว้ว่า –

กฐิน, กฐิน– [กะถิน, กะถินนะ-] (คำนาม) ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล, ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร; คํา กฐิน นี้ ใช้ประกอบกับคําอื่นอันเนื่องด้วยพิธีกฐิน ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ในพิธีนี้ เรียกว่า ผ้ากฐิน … เฉพาะผ้ากฐิน บางทีก็เรียกว่า องค์กฐิน ถ้าพร้อมกับของอื่นอันเป็นบริวารสําหรับถวายภิกษุสงฆ์ เรียกว่า เครื่องกฐิน หรือ บริวารกฐิน [บอริวานกะถิน] …

———

(๑) คำว่า “องค์” บาลีเป็น “องฺค” (อัง-คะ) ในภาษาไทยถ้าอยู่ท้ายคำหรืออยู่เดี่ยว ใช้ว่า “องค์” (อง) แปลว่า ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ (เช่น ศีลข้อปาณาติบาตจะขาด ต้องประกอบด้วยองค์ 5)

ในคำว่า “องค์กฐิน” “องค์” หมายถึง ตัว หรือส่วนสำคัญของกฐิน

(๒) คำว่า “บริวารกฐิน” “บริวาร” บาลีเป็น “ปริวาร” อ่านว่า ปะ-ริ-วา-ระ

ปริวาร” มาจาก ปริ + วรฺ + = ปริวาร

ปริ = รอบ + วรฺ (ธาตุ) = ระวัง, ป้องกัน + (ปัจจัย) ดำเนินกรรมวิธีทางไวยากรณ์สำเร็จเป็น “ปริวาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ระวังโดยรอบ” “ผู้ป้องกันโดยรอบ” “เครื่องป้องกันโดยรอบ

ปริวาร” ในภาษาบาลีมีความหมายว่า –

(1) ผู้แวดล้อม, ผู้ห้อมล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, ผู้ติดสอยห้อยตาม, ผู้รับใช้, สาวก, ขบวน, สิ่งแวดล้อม

(2) ของสมทบ, สิ่งประกอบร่วม, สิ่งที่เป็นส่วนประกอบหรือสมทบสิ่งอื่นที่เป็นประธาน เช่น “บริวารกฐิน” คือของที่ถวายรวมไปกับผ้ากฐิน

(3) ชื่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก หมวดสุดท้ายใน 5 หมวด คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร

สรุปได้ว่า :

(1) องค์กฐิน หมายถึง ผ้ากฐิน (ซึ่งอาจเป็นผ้าขาว เมื่อพระสงฆ์รับแล้วต้องนำไปเย็บย้อมทำเป็นสบง จีวร หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง หรือเป็นผ้าสำเร็จรูปแล้วก็ได้)

(2) บริวารกฐิน หมายถึง ของที่ถวายรวมไปกับผ้ากฐิน

ข้อสังเกต :

(1) ความสำคัญของกฐินอยู่ที่ผ้า ดังที่เรียกผ้ากฐินว่า “องค์กฐิน” คือเป็นตัวกฐินที่ผ้าเป็นสำคัญ ของอื่นๆ เป็นเพียงส่วนประกอบจึงเรียกว่า “บริวารกฐิน

(2) บริวารกฐินไม่มีก็ได้ แต่ผ้าหรือองค์กฐินไม่มีไม่ได้ ไม่มีก็ไม่เป็นกฐิน

(3) ปัจจุบันค่านิยมเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม บริวารโดยเฉพาะ “เงิน” กลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผ้าแทบไม่มีความหมาย

(4) ตั้งแต่ออกพรรษา ผู้เขียนบาลีวันละคำไปร่วมพิธีทอดกฐินมา 2 วัด ได้ยินผู้ประกาศเรียกพุ่มที่ปักไม้เสียบเงิน (พุ่มเงิน) ว่า “องค์กฐิน” อย่างเต็มปากเต็มคำทั้งสองวัด

(5) จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าอีกไม่เกินครึ่งศตวรรษหรืออีก 50 ปีข้างหน้านี้ ผู้คนในประเทศไทยจะเข้าใจว่าพุ่มเงินเป็น “องค์กฐิน” ส่วนผ้ากฐินก็จะเข้าใจกันว่าเป็น “บริวารกฐิน” โดยทั่วกันอย่างแน่นอน

(6) เมื่อถึงตอนนั้นก็จะเป็นอย่างที่ผู้เขียนบาลีวันละคำแกล้งกระแหนะกระแหนมาตลอดว่า-ถึงตอนนั้นก็จะต้องให้ฝรั่งมาสอนว่า “องค์กฐินคือผ้า บริวารกฐินคือเงิน” คนไทยจึงจะยอมเชื่อ ไทยด้วยกันเองบอกไม่มีใครเชื่อ

(7) พึงตระหนักว่า กฐินเป็นบุญอันเนื่องด้วยพุทธบัญญัติ ดังนั้นการศึกษาพุทธบัญญัติว่าด้วยกฐินให้เข้าใจถูกต้องชัดแจ้งแล้วปฏิบัติให้ตรงตามพุทธบัญญัติจึงเป็นการสมควรยิ่ง

(8) และพร้อมกันนั้นก็พึงตระหนักให้มากขึ้นเป็นสองเท่าสามเท่าว่า การแก้ไขความไม่รู้ของคนหมู่มากนั้นยากยิ่งกว่าเข็นภูเขาขึ้นครก ดังนั้น ถึงจะรู้ทุกเรื่องก็ไม่จำเป็นจะต้องพูดทุกเรื่อง พึงใช้ความรู้เป็นเครื่องรักษาตนไม่ให้ตกนรกเป็นสำคัญ ส่วนจะช่วยผู้อื่นให้ขึ้นสวรรค์ได้หรือไม่ ต้องว่ากันเป็นกรณีๆ ไป

: เมื่อลูกน้องใหญ่กว่านาย

: อีกไม่นาน ความวอดวายจะตามมา

#บาลีวันละคำ (878)

13-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *