มหรรณพ (บาลีวันละคำ 2,437)
มหรรณพ
ไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหน
อ่านว่า มะ-หัน-นบ
บาลีเป็น “มหณฺณว” (มะ-หัน-นะ-วะ) แยกศัพท์เป็น มหา + อณฺณว
(๑) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ “มหนฺต” เปลี่ยนรูปเป็น “มห-”
(๒) “อณฺณว” (อัน-นะ-วะ) รากศัพท์มาจาก อณฺณ + ว
(ก) “อณฺณ” (อัน-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อณฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ ปัจจัย, ซ้อน ณฺ
: อณฺ + ณฺ + อ = อณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ส่งเสียงได้”
(2) อรฺ (ธาตุ = ไป) + ต ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ณฺณ
: อรฺ + ต = อรต > อณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไหลไป”
“อณฺณ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง น้ำ
(ข) อณฺณ + วา (ธาตุ = ไป) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ วา (วา > ว)
: อณฺณ + วา = อณฺณวา > อณฺณว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่เป็นที่ไหลไปแห่งน้ำ”
มหนฺต > มหา > มห + อณฺณว = มหณฺณว แปลตามศัพท์ว่า “ห้วงน้ำใหญ่”
อธิบาย :
ในคัมภีร์อรรถกถาสังยุตนิกาย คือคัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค 3 หน้า 81 อธิบายความหมายของห้วงน้ำที่เรียกว่า “อณฺณว” ไว้ว่า –
“คมฺภีรมฺปิ หิ อปุถุลํ ปุถุลํ วา อคมฺภีรํ น อณฺณโวติ วุจฺจติ.”
แปลว่า “น้ำลึกแต่ไม่กว้าง หรือน้ำกว้างแต่ไม่ลึก ไม่เรียกว่า อณฺณว”
เป็นอันจำกัดความได้ว่า “อณฺณว” ไม่ใช่ห้วงน้ำธรรมดา แต่ต้องเป็นห้วงน้ำที่ทั้งลึกทั้งกว้าง จึงจะเรียกว่า “อณฺณว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อณฺณว” ว่า –
(1) ห้วงน้ำใหญ่, ทะเลหรือมหาสมุทร (a great flood, the sea or ocean)
(2) ลำธาร, แม่น้ำ (a stream, river)
“อณฺณว” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรรณพ” (อัน-นบ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรรณพ : (คำนาม) ห้วงนํ้า, ทะเล, มหาสมุทร. (ส. อรฺณว; ป. อณฺณว).”
บาลี “อณฺณว” สันสกฤตเป็น “อรฺณว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อรฺณว : (คำนาม) สมุทร์; an ocean.”
เป็นอันย้ำว่า อณฺณว > อรฺณว > อรรณพ คือทะเล หรือมหาสมุทร
ในที่นี้ ไม่ใช่ “อณฺณว” หรือ “อรรณพ” ธรรมดา แต่เป็น “ มหณฺณว” เป็นการขยายขนาดของ “อณฺณว” ให้กว้างใหญ่ออกไปอีก ตรงกับที่แปลว่า ห้วงน้ำใหญ่ (a great flood)
“มหณฺณว” ในภาษาไทยมีใช้ 3 รูป คือ –
“มหรณพ” อ่านว่า มะ-หอ-ระ-นบ
“มหรรณพ” อ่านว่า มะ-หัน-นบ
“มหารณพ” อ่านว่า มะ-หา-ระ-นบ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหรณพ, มหรรณพ, มหารณพ : (คำนาม) ทะเลใหญ่, ห้วงนํ้าใหญ่. (ส. มหรฺณว; ป. มหณฺณว).”
ขยายความ :
ในทางวรรณคดี “มหณฺณว” หรือ “มหรรณพ” มักใช้ในเชิงอุปมากับการเวียนตายเวียนเกิดที่ไม่มีวันสิ้นสุด ที่เรียกว่า “สังสาระ” หรือที่มักพูดกันว่า “สังสารวัฏ”
ในกรุงเทพฯ มีพระอารามหลวงชื่อ “วัดมหรรณพาราม” ก็มาจากคำว่า มหรรณพ + อาราม = มหรรณพาราม (มะ-หัน-นะ-พา-ราม) ผู้สร้างพระอารามหลวงแห่งนี้คือ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอรรณพ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มหรรณพที่กว้างใหญ่
คือหัวใจของตนเอง
: แหวกว่ายอยู่วังเวง
ยากจะพ้นจากวนวัง
#บาลีวันละคำ (2,437)
13-2-62