ฐานานุรูป (บาลีวันละคำ 2436)
ฐานานุรูป
ไม่ยากที่จะรู้ความหมาย
แต่ไม่ง่ายที่จะรู้จักฐานานุรูปตัวเอง
อ่านว่า ถา-นา-นุ-รูบ
ประกอบด้วยคำว่า ฐาน + อนุรูป
(๑) “ฐาน”
บาลีอ่านว่า ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน [ของสิ่งใดๆ] (place, region, locality, abode, part)
(2) ภาวะ, สถานะ, สภาวะ (state, condition)
(3) ที่ตั้ง (location)
(4) อิริยาบถยืน (standing position)
(5) คุณลักษณะ, คุณภาพ, ตำแหน่ง (attribute, quality, degree)
(6) สิ่ง, ข้อ, จุด; ฐานะ, หนทาง, ประการ, เหตุผล [สำหรับการถือเช่นนั้น] (thing; item, point; grounds, ways, respects, [assumption] reason)
(7) ความคาดคิด, ข้อสมมุติ, หลักการ (supposition, principle)
(8) ทันทีทันใด (at once, immediately) (เช่นในคำว่า “ฐานโส” ซึ่งมักแปลกันว่า “โดยฐานะ” แต่ความหมายจริงๆ ในที่นี้ต้องแปลว่า “โดยพลัน” : “ฐานโส อุปกปฺปติ” = ย่อมสำเร็จโดยพลัน)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายคำว่า “ฐาน” เฉพาะที่ตรงกับความหมายในที่นี้ไว้ว่า –
“ฐาน ๒, ฐาน-, ฐานะ : (คำนาม) ตําแหน่งหน้าที่; หลักฐาน, ลําดับความเป็นอยู่ในสังคม เช่น ทุกคนยอมรับรู้ฐานะในสังคมของเขา. (ป.).”
(๒) “อนุรูป”
บาลีอ่านว่า อะ-นุ-รู-ปะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค) + รูป
(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อย “อนุภรรยา” = เมียน้อย
แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป
แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา
แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก
(ข) “รูป”
บาลีอ่านว่า รู-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รูปฺ (ธาตุ = ประกาศ) + อ ปัจจัย
: รูปฺ + อ = รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศสภาพของตน”
(2) รุปฺ (ธาตุ = เสื่อม, ทรุดโทรม) + อ ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ รุ-(ปฺ) เป็น อู (รุปฺ > รูป)
: รุปฺ + อ = รุป > รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ต้องเสื่อมไป”
“รูป” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง รูป, ทรวดทรง, รูปร่างหรือรูปพรรณสัณฐาน, หลักการเกี่ยวกับรูป ฯลฯ (form, figure, appearance, principle of form, etc.)
อนุ + รูป = อนุรูป เกิดเป็นคำใหม่ แปลตามศัพท์ว่า “ตามรูป” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า เหมาะสม, สมควร, เหมาะเจาะ, คู่ควร, พอเพียง, เข้ากันได้, ลงรอยกัน, สอดคล้องกัน (suitable, adequate, seeming, fit, worthy; adapted to, corresponding, conform with)
ฐาน + อนุรูป = ฐานานุรูป แปลวามศัพท์ว่า “สมควรแก่ฐานะ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ฐานานุรูป : (คำวิเศษณ์) สมควรแก่ฐานะ. (ป.).”
อภิปราย :
“ฐานานุรูป” เป็นบาลีไทย คือรูปคำเป็นบาลี แต่ใช้ในความหมายตามที่ประสงค์ในภาษาไทย
“ฐานานุรูป” ในบาลีที่ใช้ตรงกับภาษาไทยก็มี แต่มีคำอื่นประกอบ ไม่ใช้เดี่ยวๆ เช่น “ปุโรหิจฺจฏฺฐานานุรูปาลงฺการ” แปลว่า “เครื่องประดับอันสมควรแก่ตำแหน่งปุโรหิต”
ในคัมภีร์ พบคำว่า “ฐานานุรูป” ใช้เดี่ยวๆ ตรงตัวเพียงแห่งเดียวในคัมภีร์ประเภท “อัตถโยชนา” อรรถกถาพระวินัย แต่ในที่นั้น “ฐานานุรูป” แปลว่า “ตามควรแก่สถานที่” (ความหมายของ “ฐาน” ตามข้อ (1) หรือข้อ (3) ดู-ข้างต้น) ไม่ได้หมายถึง “ตามควรแก่ตําแหน่งหน้าที่ หลักฐาน ลําดับความเป็นอยู่ในสังคม” ตามความหมายในภาษาไทย
พึงทราบว่า คำบาลีที่ใช้ในภาษาไทย แต่ความหมายผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิมเช่นนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถึงจะไม่รู้อะไรในสากล
: ขอเพียงรู้จักตนก็พอ
#บาลีวันละคำ (2,436)
12-2-62