ธรรมราชา (บาลีวันละคำ 1,611)
ธรรมราชา
อ่านว่า ทำ-มะ-รา-ชา
ประกอบด้วย ธรรม + ราชา
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(๒) “ราชา”
แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราชา” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้เป็น “ราช-” นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
ธมฺม + ราชา = ธมฺมราชา > ธรรมราชา แปลตามศัพท์ว่า “พระราชาโดยธรรม” หรือ “พระราชาในธรรม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมราชา” ว่า king of righteousness, Ep. of the Buddha; a king who gained the throne legitimately (เจ้าแห่งธรรม, เป็นคำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธเจ้า; พระราชาซึ่งได้ราชบัลลังก์โดยชอบธรรม)
“ธรรมราชา” คือใคร? :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
ธรรมราชา :
1. “ผู้ยังชาวโลกให้ชื่นบานด้วย (นวโลกุตตร) ธรรม”, พระราชาแห่งธรรม, พระราชาผู้เป็นเจ้าแห่งธรรม, พระราชาโดยธรรม หมายถึงพระพุทธเจ้า
2. “ผู้ยังชาวโลกให้ชื่นบานด้วย (ทศกุศลกรรมบถ) ธรรม”, ราชาผู้ทรงธรรม, พระเจ้าจักรพรรดิ ตามคติแห่งพระพุทธศาสนา คือ ราชาผู้มีชัยชนะและครองแผ่นดินโดยธรรม ไม่ต้องใช้ทัณฑ์ ไม่ต้องใช้ศัสตราวุธ
…………
สรุปว่า “ธรรมราชา” หมายถึง –
(1) พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
(2) พระเจ้าจักรพรรดิหรือพระราชาผู้ทรงธรรมตามคติแห่งพระพุทธศาสนา
…………
พราหมณ์ผู้หนึ่ง รู้คัมภีร์มหาปุริสลักษณะ ได้เห็นพระรูปโฉมของพระพุทธองค์แล้วกราบทูลว่า พระองค์ควรจะไปเป็นพระเจ้าจักรพรรดิธรรมราชาดีกว่าอยู่เป็นสมณะเช่นนี้
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
ราชาหมสฺมิ เสลาติ [ภควา]
ธมฺมราชา อนุตฺตโร
ธมฺเมน จกฺกํ วตฺเตมิ
จกฺกํ อปฺปฏิวตฺติยํ.
ดูก่อนเสลพราหมณ์ เราเป็นราชาอยู่แล้ว
เราเป็นธรรมราชา ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เราประกาศธรรมจักรอันเป็นจักรที่ใครๆ คัดค้านไม่ได้
(เราจึงเป็นจักรพรรดิอยู่ ณ บัดนี้แล้ว).
(เสลสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 13 ข้อ 609)
…………
คุณสมบัติ หรือหลักปฏิบัติของ “ธรรมราชา” ฝ่ายโลก กล่าวตามจักรวรรดิวัตร (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ, พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ, ธรรมเนียมการทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ, หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ — Cakkavatti-vatta: duties of a universal king or a great ruler)
1. ธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย — Dhammādhipateyya: supremacy of the law of truth and righteousness; rule of the Dhamma; rule of the true law)
2. ธรรมิการักขา (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม —Dhammikārakkhā: provision of the right watch, ward and protection)
3. อธรรมการนิเสธนา (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกันแก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง — Adhammakāranisedhanā: to let no wrongdoing prevail in the kingdom)
4. ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น —Dhanānuppadāna: to let wealth be given or distributed to the poor)
5. ปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย — Paripucchā: to go from time to time to see and seek advice from the men of religious life who maintain high moral standards; to have virtuous counsellors and seek after greater virtue)
(ดูเพิ่มเติม : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ 339)
…………
: อำนาจ อาจส่งให้เป็นผู้นำ
: แต่ธรรม ส่งให้เป็นผู้นำที่ควรบูชา
—————-
(ตามคำชี้แนะของ Chakkrit Rachain Maneewan)
1-11-59