บาลีวันละคำ

เจตนาสามกาล (บาลีวันละคำ 881)

เจตนาสามกาล

เจตนา” รากศัพท์มาจาก จิตฺ (ธาตุ = คิด, รู้, จงใจ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ (ที่ จิ-) เป็น เอ, แปลง ยุ เป็น อน, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จิตฺ > เจต + ยุ > อน = เจตน + อา = เจตนา แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่คิด” หมายถึง ความตั้งใจ, ความคิด, ความจงใจ, ความประสงค์, ความปรารถนา (state of mind in action, thinking as active thought, intention, purpose, will)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

เจตนา : (คำกริยา) ตั้งใจ, จงใจ, มุ่งหมาย. (คำนาม) ความตั้งใจ, ความจงใจ, ความมุ่งหมาย”

(ดูเพิ่มเติมที่ : เจตนา : บาลีวันละคำ (704) 21-4-57)

เจตนาสามกาล” หมายถึง :

(1) ปุพพเจตนา = ความตั้งใจเบื้องต้น (preliminary intention)

(2) มุญจนเจตนา = ความตั้งใจขณะทำ (releasing intention)

(3) อปรเจตนา = ความตั้งใจต่อมา (subsequent intention)

(คำแปลภาษาอังกฤษ : Banjob Bannaruji, ป.ธ.๙, Ph. D.)

ขอเก็บหลักความจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอดังนี้ –

ข้อ ๑

เจตนา : ความมุ่งใจหมายจะทำ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เป็นตัวนำในการคิดปรุงแต่ง และเป็นตัวการในการทำกรรม หรือกล่าวได้ว่าเป็นตัวกรรมทีเดียว ดังพุทธพจน์ว่า “เจตนาหํ  ภิกฺขเว  กมฺมํ  วทามิ” แปลว่า “เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม”;

ข้อ ๒

เจตนาสามกาล ใช้เป็นข้อพิจารณาในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรม ได้แก่ –

(1) ปุพพเจตนา (ความตั้งใจในเบื้องต้น) = เจตนาก่อนจะทำ

(2) มุญจนเจตนา (แปลตามศัพท์ว่า “ความตั้งใจในการปล่อย”) = เจตนาในขณะทำ คือขณะปล่อยสิ่งของออกจากมือเพื่อให้แก่ผู้อื่น (เน้นที่ “ทานการให้”)

เจตนาที่ 2 นี้คำเดิมท่านเรียก “สันนิฏฐาปกเจตนา” แปลตามศัพท์ว่า “ความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ” หมายถึงเจตนาในขณะลงมือทำและทำจนสำเร็จ

(3) อปรเจตนา หรือ อปราปรเจตนา (ความตั้งใจต่อมา) = เจตนาสืบเนื่องต่อมาจากการกระทำนั้น หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากได้ทำสำเร็จแล้ว

เจตนาสามกาลนี้เป็นหลักในการที่จะทำบุญคือกรรมที่ดี ให้ได้ผลมาก และมักเน้นในเรื่องทาน

ข้อ ๓

ท่านสอนว่า ควรถวายทานหรือให้ทานด้วยเจตนาที่ครบทั้งสามกาล คือ –

(1) ก่อนให้ มีใจยินดี (ปุพพเจตนา)

(2) ขณะให้ ทำใจผ่องใส (มุญจนเจตนา)

(3) ให้แล้ว ชื่นชมปลื้มใจ (อปรเจตนา)

แถม :

ท่านว่า ผู้ที่ทำบุญให้ทานแล้วรู้สึกเสียดายในภายหลัง ผลแห่งทานย่อมทำให้มีทรัพย์สมบัติมาก แต่ผลแห่งอปรเจตนาที่ไม่ผ่องใส จะทำให้ไม่ได้เสวยสุขอันเกิดจากสมบัตินั้น กล่าวคือ “รวย แต่ไม่มีความสุข

พระพุทธพจน์ :

ปุพฺเพว  ทานา  สุมโน

ททํ  จิตฺตํ  ปสาทเย

ทตฺวา  อตฺตมโน  โหติ

เอสา  ยญฺญสฺส  สมฺปทา.

(ทานสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๓๐๘)

ก่อนให้ ก็ปลอดโปร่ง

กำลังให้ ก็เปรมปรีดิ์

ให้แล้ว ก็ปลาบปลื้ม

บุญที่สมบูรณ์เป็นดั่งนี้

#บาลีวันละคำ (881)

16-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *