สาป (บาลีวันละคำ 880)
สาป
ภาษาไทยอ่านว่า สาบ
บาลีอ่านว่า สา-ปะ
“สาป” รากศัพท์มาจาก สปฺ (ธาตุ = แช่ง, ด่า) + ณ ปัจจัย, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ ยืดเสียง อะ ที่ ส– เป็น อา
: สปฺ > สาป + ณ = สาป แปลตามศัพท์ว่า “การแช่ง” “การด่า”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาป : (คำนาม) คําแช่งให้เป็นไปต่าง ๆ ของผู้มีฤทธิ์อำนาจ เช่นเทวดา ฤๅษี แม่มด. (ป.; ส. ศาป).”
พจน.54 บอกว่า บาลี “สาป” สันสกฤตเป็น “ศาป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ศาป : (คำนาม) การหรือคำสาป, การหรือคำแช่งด่า, อปวาท; ศบถ; a curse, an imprecation, an abuse; an oath.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาป” ว่า a curse
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำภาษาอังกฤษข้างต้นเป็นบาลีดังนี้ –
(1) curse : abhisapati อภิสปติ (คำกริยา) = สาปแช่ง. abhisapana อภิสปน = การแช่งด่า, การสาปแช่ง
(2) imprecation : abhisapana อภิสปน. sāpa สาป
(3) abuse : akkosa อกฺโกส = การด่า. paribhava ปริภว = การดูหมิ่น. garahā ครหา = การตำหนิ. nindā นินฺทา = การติเตียน. upavāda อุปวาท = การว่าร้าย
(4) oath : sapatha สปถ = คำสาบาน, คำสบถ. abhisapana อภิสปน
เมื่อถ่ายความหมายกลับไปกลับมา จะเห็นได้ว่า “สาป” มิใช่หมายเพียงผู้มีฤทธิ์อำนาจกระทำให้ผู้ถูกสาปมีอันเป็นไปต่างๆ เท่านั้น “สาป” ยังหมายถึงการตำหนิติเตียน นินทาว่าร้าย ดูถูกดูหมิ่น และสบถสาบานอีกด้วย
ในภาษาไทย เมื่อเอ่ยถึงคำที่มีเสียงว่า “สาบ” อยู่ด้วย มักเขียนเพลินกันไปเป็น “สาป” (ป ปลาสะกด) เช่น เหม็นสาป แมลงสาป ทะเลสาป (คำที่ถูกคือ เหม็นสาบ แมลงสาบ ทะเลสาบ – บ ใบไม้สะกด) จะเป็นเพราะคำว่า “สาป” ติดหูติดตาหรืออย่างไร
ในภาษาไทยมีคำที่สะกดเป็น “สาป” อยู่ไม่กี่คำ เช่น สาปแช่ง สาปส่ง สาปสรร
แม้แต่คำที่มีความหมายว่า “สูญหายไปอย่างไม่ทิ้งร่องรอย” ซึ่งมีผู้แสดงความเห็นว่าน่าจะสะกดเป็น “สาปสูญ” (= หายไปเหมือนถูกสาป) พจนานุกรมฯ ก็สะกดเป็น “สาบสูญ” (สาบ-บ ใบไม้)
: ร้อยพันคำสาป ไม่ร้ายเท่ากับหนึ่งบาปที่ตนทำ
#บาลีวันละคำ (880)
15-10-57