บาลีวันละคำ

คณะ (บาลีวันละคำ 882)

คณะ

บาลีเขียน “คณ” อ่านว่า คะ-นะ

คณ” รากศัพท์มาจาก คณ (ธาตุ = นับ) + ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ.

ผู้รู้ท่านว่า สมาชิกของคณะย่อมมี 3 จำพวก คือ –

(1) คณโสภกะ (คะ-นะ-โส-พะ-กะ) ผู้ทำคณะให้งดงาม (one who makes resplendent of the company)

: มีคนประเภทนี้มากๆ คณะเจริญ

(2) คณทูสกะ (คะ-นะ-ทู-สะ-กะ) ผู้ทำร้ายคณะ (one who spoils the reputation of the company)

: มีคนประเทภนี้มากๆ คณะเสื่อม

(3) คณปูรกะ (คะ-นะ-ปู-ระ-กะ) ผู้ทำให้ครบจำนวน (one who completes the quorum)

: มีคนประเภทนี้มากๆ คณะอยู่กันไปวันๆ

ทุกคนมีสิทธิ์จะเลือกเป็นสมาชิกประเภทไหนของคณะก็ได้ โดยระลึกไว้ว่า :

ทำให้หอมไม่ได้ก็ไม่ว่า

ขอเพียงอย่าช่วยซ้ำทำให้เหม็น

ถ้าอยากช่วยสังคมให้ร่มเย็น

ทำไม่เป็นช่วยนั่งดูอย่ารู้ดี

#บาลีวันละคำ (882)

17-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *