บาลีวันละคำ

ภูมิพโลภิกขุ (บาลีวันละคำ 1,614)

ภูมิพโลภิกขุ

อ่านว่า พู-มิ-พะ-โล-พิก-ขุ

ประกอบด้วย ภูมิพโล + ภิกขุ

(๑) “ภูมิพโล” คำเดิมคือ “ภูมิพล” อ่านแบบไทยว่า พู-มิ-พน อ่านแบบบาลีว่า พู-มิ-พะ-ละ ประกอบด้วย ภูมิ + พล

1) “ภูมิ” รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย

: ภู + มิ = ภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)

ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า แผ่นดิน, ที่ดิน; พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้; สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย

2) “พล” รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + ปัจจัย

: พล + = พล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู

พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –

(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)

(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

ภูมิ + พล = ภูมิพล แปลตามศัพท์ว่า “กำลังของแผ่นดิน”

(๒) “ภิกขุ

คำนี้ถ้าเขียนทับศัพท์แบบไทยไม่มีจุดใต้ เขียนแบบบาลีเป็น “ภิกฺขุ” (มีจุดใต้ กฺ)

ภิกฺขุ” มีความหมายหลายนัย กล่าวคือ –

(1) “ผู้ขอ” : ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(2) “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” : ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ = ภินฺนปฏ = ผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ, ธโร = ผู้ทรงไว้

(3) “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” : สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภย (ภัย) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น) + รู ปัจจัย

(4) “ผู้ทำลายบาปอกุศล” : ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย

(5) “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” : ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺขฺ (ธาตุ = บริโภค) + รู ปัจจัย

ภูมิพโล + ภิกขุ = ภูมิพโลภิกขุ

……………

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จออกผนวชระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายานามว่า “ภูมิพโล

ภูมิพโล” เป็น “ฉายานาม” คือชื่อที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้เป็นภาษาบาลีเมื่ออุปสมบท เนื่องจากในพิธีอุปสมบทต้องสวดกรรมวาจาเป็นภาษาบาลี และต้องระบุชื่อผู้ที่จะอุปสมบทเป็นคำบาลีด้วย ดังนั้นพระอุปัชฌาย์จึงต้องตั้งชื่อเป็นภาษาบาลีให้ใหม่ เรียกว่า “ฉายานาม” เรียกสั้นๆ ว่า “ฉายา” เนื่องจากสมัยที่ยังไม่มีนาฬิกา ต้องวัดเงาแดดเพื่อจดบันทึกว่าบวชเสร็จในเวลาเท่าไร

ฉายานาม” มีความหมายว่า “ชื่อที่ตั้งตอนวัดเงาแดด

ภูมิพโล” ก็ตั้งตามพระนาม “ภูมิพล” ซึ่งเป็นคำบาลีอยู่แล้วนั่นเอง เพียงแต่ประกอบวิภัตติตามหลักภาษาบาลี จึงเป็น “ภูมิพโล” (พู-มิ-พะ-โล)

คำว่า “ภูมิพโลภิกขุ” เป็นการเขียนตามคำพูดในภาษาไทย ถ้าเขียนตามหลักภาษาบาลีต้องแยกเป็น 2 คำ คือ “ภูมิพโล” คำหนึ่ง “ภิกฺขุ” คำหนึ่ง (คำว่า “ภิกฺขุ” มีจุดใต้ กฺ ด้วย)

: “ภูมิพโลภิกขุ” เขียนแบบคำไทย

: “ภูมิพโล  ภิกฺขุ” เขียนตามหลักภาษาบาลี

ภูมิพโลภิกขุ” (“ภูมิพโล  ภิกฺขุ”) แปลว่า “ภิกษุผู้มีนามว่าภูมิพล” หรือ “ภิกษุผู้เป็นกำลังของแผ่นดิน

……………

: แผ่นดินเป็นกำลังของมนุษย์ทุกคน

: แต่มนุษย์บางคนเท่านั้นที่เป็นกำลังของแผ่นดิน

4-11-59