บาลีวันละคำ

จิตรลดารโหฐาน (บาลีวันละคำ 1,615)

จิตรลดารโหฐาน

อ่านว่า จิด-ตฺระ-ละ-ดา-ระ-โห-ถาน

(อ่านตามความนิยมว่า จิด-ละ-ดา-ระ-โห-ถาน)

ประกอบด้วย จิตรลดา + รโหฐาน

(๑) “จิตรลดา

บาลีเป็น “จิตฺตลตา” (จิด-ตะ-ละ-ตา) ประกอบด้วย จิตฺต + ลตา

ก. “จิตฺต” ในบาลีมีความหมายหลายอย่างตามรากศัพท์ต่อไปนี้ –

1) จิตฺตา (ดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง) + ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อา ที่-ตา (จิตฺตา > จิตฺต) และลบ

: จิตฺตา + = จิตฺตาณ > จิตฺตา > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เดือนที่กำหนดด้วยดาวจิตตา” (คือดาวที่คู่กับดวงจันทร์เต็มดวง) หมายถึง จิตรมาส คือเดือนห้า

2) จิ (ธาตุ = สะสม) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ

: จิ + ตฺ + = จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สีอันเขาผสมกันไว้” (คือเขียนระบายไว้) หมายถึง สีระบาย, ลวดลาย (2) “สิ่งที่สะสมการสืบต่อของตนไว้” หมายถึง จิต, ใจ อันเป็นที่เก็บสั่งสมบุญบาปไว้

3) จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด

4) จิตฺต (ความวิจิตรพิสดารต่างๆ) + ปัจจัย, ลบ

: จิตฺต + = จิตฺตณ > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้วิจิตรไปต่างๆ” หมายถึง จิต, ใจ ซึ่งมีลักษณะคิดเรื่องราวจินตนาการต่างๆ สุดจะบรรยาย

5) จิตฺต (สิ่งที่งดงาม) + ปัจจัย

: จิตฺต + = จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งามวิจิตรเพราะสร้างขึ้นด้วยจิต” หมายถึง จิตรกรรม, ความวิจิตรต่างๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

(1) the heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

(2) variegated, manifold, beautiful; tasty, sweet, spiced (of cakes) (วิจิตร, มีลวดลายหลายหลาก, สวยงาม, อร่อย, หวาน, ใส่เครื่องเทศ [พูดถึงขนม])

(3) painting (ภาพเขียน)

ในที่นี้ “จิตฺต” ใช้ในความหมายตามรากศัพท์ในข้อ 5)

ข. “ลตา” รากศัพท์มาจาก ลา (ธาตุ = ถือเอา) + ต ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ลา เป็น อะ (ลา > ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ลา + = ลาต > ลต + อา = ลตา แปลตามศัพท์ว่า “ไม้เถาที่ยึดเกาะโดยทางยาว” หมายถึง ลดาวัลย์, เครือเถา

จิตฺต + ลตา = จิตฺตลตา แปลตามศัพท์ว่า

(1) “สวนที่มีความงามด้วยเถาวัลย์นานาชนิด”

(2) “สวนที่ประกอบด้วยเถาวัลย์ที่วิจิตรงดงามด้วยสีสันต่างๆ”

(3) “สวนที่พวกเทวดามีจิตปรารถนาและมีเถาวัลย์ที่ชื่อว่าอาสาวดี”

(4) “สวนเป็นที่รวมของหมู่ไม้ทิพย์ที่ยึดจิตเทวดาไว้”

จิตฺตลตา” เป็นชื่อสวนสวรรค์ในชั้นดาวดึงส์

(๒) “รโหฐาน” ประกอบด้วย รโห + ฐาน

ก. “รโห” รากศัพท์มาจาก –

1) รหฺ (ธาตุ = สงัด) + ปัจจัย

: รห + = รห แปลตามศัพท์ว่า “โอกาสที่สงัดจากผู้คน” (คือไม่มีใครอื่นอยู่ในที่นั้น อยู่คนเดียว)

2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น (รมฺ > รหฺ)

: รมฺ > รหฺ + = รห แปลตามศัพท์ว่า “โอกาสเป็นที่ยินดีแห่งผู้คน” (คือไม่มีคนอื่นๆ มารบกวน สามารถทำสิ่งที่ต้องการได้อย่างสบายใจ)

รห” หมายถึง ที่เปลี่ยว, ที่สงัด, ความเปล่าเปลี่ยว; ความลับ, ความรโหฐาน หรือไม่เป็นที่เปิดเผย (lonely place, solitude, loneliness; secrecy, privacy)

รห” ในบาลีโดยปกติเป็น “รโห” ใช้ในฐานะเป็นนิบาต (ศัพท์คงรูป ไม่เปลี่ยนไปตามวิภัตติต่างๆ)

ข. “ฐาน” บาลีอ่านว่า ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

รห > รโห + ฐาน = รโหฐาน แปลว่า ที่เฉพาะส่วนตัว

จิตฺตลตา + รโหฐาน = จิตฺตลตารโหฐาน > จิตรลดารโหฐาน มีความหมายว่า “ที่อยู่ส่วนตัวอันสวยงามประดุจจิตรลดาวัน

………….

จิตรลดารโหฐาน” เป็นชื่อพระตำหนักในพระราชวังดุสิต สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร

มีคำกล่าวว่า

“..ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดารโหฐานและบริเวณสวนจิตรลดา ที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา และไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลายหลาก จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทำงานอย่าง ‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน’ ด้วยพระองค์เอง…”

(คำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2523)

………….

: ช่วยกันทำสังคมให้งามด้วยความดีบริสุทธิ์

: คือช่วยกันทำโลกมนุษย์ให้งามปานสวนสวรรค์

#บาลีวันละคำ (1,615)

5-11-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย