ดุสิตมหาปราสาท (บาลีวันละคำ 1,613)
ดุสิตมหาปราสาท
อ่านว่า ดุ-สิด-มะ-หา-ปฺรา-สาด
ประกอบด้วย ดุสิต + มหา + ปราสาท
(๑) “ดุสิต”
บาลีเป็น “ตุสิต” (ตุ-สิ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
1) ตุสฺ (ธาตุ = ยินดี) + อิ อาคมหน้าปัจจัย + ต ปัจจัย
: ตุสฺ + อิ + ต = ตุสิต แปลตามศัพท์ว่า “เทพผู้ยินดีด้วยสมบัติทิพย์”
2) ตุส (ความยินดี) + อิต (ถึงแล้ว)
: ตุส + อิต = ตุสิต แปลตามศัพท์ว่า “เทพผู้ถึงความยินดีด้วยสิริสมบัติของตน”
“ตุสิต” เป็นชื่อสวรรค์ชั้นที่ 4 ในกามาวจรสวรรค์ 6 ชั้น มีความหมายว่า เทพผู้มีความชื่นชมยินดี (the delightful)
“ตุสิต” ในบาลีใช้เป็นคุณศัพท์ของ “เทวา” จึงมักพบในรูป “ตุสิตา”
มีข้อสังเกตว่า พระพุทธเจ้าของเราในพระชาติสุดท้ายที่เป็นพระโพธิสัตว์ก็อุบัติในภพดุสิต พระนางสิริมหามายาพุทธมารดาซึ่งตั้งความปรารถนาเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปก็ไปอุบัติในภพดุสิต
อาจกล่าวได้ว่า สวรรค์ชั้นดุสิตเป็นที่สถิตของเหล่าบุคคลผู้ตั้งความปรารถนาจะทำประโยชน์ยิ่งใหญ่ให้แก่โลก และโดยนัยนี้จึงมีความเชื่อกันว่า ผู้ที่เกิดมาทำประโยชน์ให้แก่โลก เมื่อสิ้นอายุขัย หากยังไม่สิ้นภพจบชาติ ก็จะไปอุบัติขึ้นในภพดุสิต รอเวลาที่จะจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์สร้างบุญบารมีสืบต่อไปจนกว่าบรรลุโมกขธรรมหลุดพ้นจากสังสารทุกข์ได้ในที่สุด
(๒) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหนฺต เข้าสมาสกับ –ปราสาท เปลี่ยนรูปเป็น “มหา-”
(๓) “ปราสาท”
บาลีเป็น “ปาสาท” (ปา-สา-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + สทฺ (ธาตุ = แผ่ไป, ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป เป็น อา (ป > ปา), ทีฆะ อะ ที่ ส-(ทฺ) เป็น อา (สทฺ > สาท)
: ป + สทฺ = ปสทฺ + ณ = ปสทณ > ปสท > ปาสท > ปาสาท แปลตามศัพท์ว่า “อาคารเป็นที่ยินดีแห่งตาและใจ”
(2) ปสาท (ความยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป-(สาท) เป็น อา (ปสาท > ปาสาท)
: ปสาท + ณ = ปสาทณ > ปสาท > ปาสาท แปลตามศัพท์ว่า “อาคารที่ยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้น”
“ปาสาท” นักเรียนบาลีแปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า ปราสาท
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า “ปาสาท” ว่า a lofty plat-form, a building on high foundations, a terrace, palace (แท่นหรือชานหรือยกพื้นสูง, สิ่งก่อสร้างที่มีฐานสูง, อาคารเป็นชั้นๆ, วัง)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ปฺราสาท : (คำนาม) ‘ปราสาท,’ วิหาร; มนเทียร, พระราชวัง; a temple; a palace, a building inhabited by a prince or king.”
“ปาสาท” ใช้ในภาษาไทยตามรูปสันสกฤตเป็น “ปราสาท”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปราสาท : (คำนาม) เรือนมียอดเป็นชั้น ๆ สําหรับเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินหรือเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์. (ส. ปฺราสาท; ป. ปาสาท).”
ตุสิต + มหาปาสาท = ตุสิตมหาปาสาท > ดุสิตมหาปราสาท แปลเอาความว่า ปราสาทที่มีความงดงามอลังการปานว่าปราสาทในสวรรค์ชั้นดุสิต
…………..
“ดุสิตมหาปราสาท” เป็นนามพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระที่นั่งองค์นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียวในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะเรือนยอดพระมหาปราสาทมีรูปทรงต้องด้วยศิลปะลักษณะอันวิจิตรงดงาม
…………..
: ถ้ามีความอิ่มความพอหล่อเลี้ยงหัวใจ
: อยู่ที่ไหนๆ ก็สุขประหนึ่งอยู่ในปราสาทสวรรค์ชั้นดุสิต
3-11-59