คาถาพระสุนทรีวาณี [4] (บาลีวันละคำ 2424)
คาถาพระสุนทรีวาณี [4]
แถลงศัพท์ : สรณํ ปาณินํ วาณี
“คาถาพระสุนทรีวาณี” มีข้อความดังนี้ —
…………..
มุนินฺทวทนมฺโพช-…..คพฺภสมฺภวสุนฺทรี
สรณํ ปาณินํ วาณี…..มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ.
พระวาณี คือพระสัทธรรมอันงดงาม สมภพในห้อง-
แห่งบงกช กล่าวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี
เป็นที่พึ่งแห่งปาณชาติทั้งหลาย
โปรดยังใจของข้าพระองค์ให้เอิบอิ่ม เทอญ.
…………..
จะได้อธิบายศัพท์ต่างๆ พอเป็นอลังการแห่งความรู้ไปตามลำดับ
บาทที่ 3 “สรณํ ปาณินํ วาณี” (สะระณัง ปาณินัง วาณี) มีศัพท์อยู่ 3 ศัพท์ คือ “สรณํ” “ปาณินํ” “วาณี”
(๑) “สรณํ” (สะ-ระ-นัง)
รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน; ระลึกถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เบียดเบียนแสงอาทิตย์เป็นต้น” (2) “ที่เป็นที่ระลึกถึง”
“สรณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ที่กำบัง, บ้าน (shelter, house)
(2) ที่พึ่ง, สรณะ (refuge, protection)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สรณ-, สรณะ : (คำนาม) ที่พึ่ง, ที่ระลึก; ความระลึก. (ป.; ส. ศรณ).”
(๒) “ปาณินํ” (ปา-นิ-นัง)
รูปคำเดิมเป็น “ปาณี” ประกอบด้วย ปาณ + อี ปัจจัย
(ก) “ปาณ” บาลีอ่านว่า ปา-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปาณฺ (ธาตุ = เป็นอยู่, มีชีวิต) + อ ปัจจัย
: ปาณฺ + อ = ปาณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องเป็นอยู่ได้แห่งเหล่าสัตว์”
(2) ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + อนฺ (ธาตุ = มีลมปราณ) + อ ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ อ-(นฺ) เป็น อา (อนฺ > อาน), แปลง น เป็น ณ
: ป + อนฺ = ปนฺ + อ = ปน > ปาน > ปาณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องให้มีลมปราณ”
“ปาณ” (ปุงลิงค์) หมายถึง คนหรือสัตว์ที่มีชีวิต, ชีวิต, สัตว์โลก (living being, life, creature) นักขบธรรมะให้จำกัดความว่า “สิ่งที่มีลมหายใจ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปาณ-, ปาณะ : (คำนาม) ลมหายใจ; สัตว์มีชีวิต, ชีวิต. (ป.; ส. ปฺราณ).”
(ข) ปาณ + อี = ปาณี แปลว่า “ผู้มีลมปราณ” หมายถึง มีชีวิต, สัตว์มีชีวิต (having life, a living being)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปาณี ๒ : (คำนาม) สัตว์, คน. (คำวิเศษณ์) มีลมหายใจอยู่, ยังเป็นอยู่. (ป.; ส. ปฺราณินฺ).”
“ปาณี” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปาณีนํ” (ปา-นี-นัง) แปลตามศัพท์ว่า “แห่งผู้มีลมปราณทั้งหลาย” หรือที่คำแปลในต้นฉบับแปลไว้ว่า “แห่งปาณชาติทั้งหลาย”
แต่เนื่องจาก –ณี– อยู่ในลำดับคำที่ต้องเป็นคำลหุ (คำเสียงเบาหรือสระเสียงสั้น) จึงเปลี่ยน –ณี– เป็น –ณิ– ทั้งนี้เพื่อความสละสลวยในเวลาสวดเป็นทำนอง กฎเกณฑ์เช่นนี้ภาษาวิชาการเรียกว่า “ฉันทานุรักษ์”
“ปาณีนํ” (ปา-นี-นัง) จึงเป็น “ปาณินํ” (ปา-นิ-นัง)
(๓) “วาณี” (วา-นี)
รากศัพท์มาจาก วา (ธาตุ = พูด, ส่งเสียง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วา + ยุ > อน = วาน > วาณ + อี = วาณี แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาณี : (คำนาม) ถ้อยคํา, ภาษา. (ป., ส.); เจ้าแม่แห่งวาจา คือ พระสรัสวดี. (ส.).”
โปรดสังเกตที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ คือ ความหมายที่ว่า “ถ้อยคํา, ภาษา.” เป็นความหมายทั้งในบาลีและสันสกฤต แต่ความหมายที่ว่า “เจ้าแม่แห่งวาจา คือ พระสรัสวดี” เป็นความหมายในสันสกฤตเท่านั้น
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วาณี” บอกดังนี้ –
“วาณี : (คำนาม) สรัสวดี, วาคเทวี; พจน์, ศัพท์; Sarasvati, the goddess of speech; speech, sound.”
ขยายความ :
ข้อความในคาถาบาทที่ 3 คือ “สรณํ ปาณินํ วาณี” แปลว่า
“พระวาณีเป็นที่พึ่งแห่งปาณชาติทั้งหลาย”
คำว่า “วาณี” ความหมายตามศัพท์คือ คำพูด หรือ วาจา แต่ในที่นี้ท่านผู้รจนามีเจตนาจะให้หมายถึง “พระสัทธรรม” คือคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อผู้ใดได้สดับแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามให้ถูกถ้วน “วาณี” ก็จะเป็น “สรณํ” คือที่พึ่งของผู้นั้น ท่านจึงว่า “สรณํ ปาณินํ วาณี” = “พระวาณีเป็นที่พึ่งแห่งปาณชาติทั้งหลาย”
ข้อความในคาถาบาทที่ 3 นี้ แต่ละคำแยกจากกัน แปลแล้วได้ใจความครบถ้วนอยู่ในตัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคำเฉลยของข้อความใน 2 บาทแรกที่ว่า “มุนินฺทวทนมฺโพช– คพฺภสมฺภวสุนฺทรี” แปลว่า “ผู้มีความงามซึ่งเกิดในห้องแห่งดอกบัวคือพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า” ซึ่งจะต้องถามว่า “-สุนฺทรี” = “ผู้มีความงาม” นี้คือใครหรือคือสิ่งใด
คำตอบคือ “-สุนฺทรี วาณี” = “พระสัทธรรมอันงาม” เจ้าของความงามนี้คือพระสัทธรรมอันหลั่งไหลออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้านั่นเอง
และพระสัทธรรมนี้แลที่ท่านอุปมาเหมือน “นางฟ้า” อันมีนามว่า “วาณี” เป็นที่มาของนาม “พระสุนทรีวาณี” ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ และเป็นที่มาของภาพพระบฏที่เรียกว่าภาพ “สุนทรีวาณี”
คำว่า “พระบฏ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ที่คำว่า “บฏ” ดังนี้ –
“บฏ : (คำแบบ) (คำนาม) ผ้าทอ, ผืนผ้า; เรียกผืนผ้าที่เขียนหรือทอเป็นรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา ว่า พระบฏ. (ป., ส. ปฏ).”
อภิปราย :
ภาพที่นำมาประกอบบาลีวันละคำอันว่าด้วย “คาถาพระสุนทรีวาณี” น่าจะเป็นภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง อธิบายไว้ว่า —
…………..
… ภาพพระวาณีนี้ ต่อมา สมเด็จพระวันรัต แดง วัดสุทัศน์ ได้ให้ช่างเขียนเป็นภาพเทพธิดานั่งขัดสมาธิในดอกบัว หัตถ์ขวายกในท่ากวัก หัตถ์ซ้ายวางที่ตัก มีดวงแก้ววางอยู่ ทำนองจะเรียกให้มาชมให้มารับแก้ว คือ พระธรรม ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ได้ทรงรับสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงเขียนเป็นภาพทำนองนั้น เพื่อประดิษฐานที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร …
…………..
อักษรขอมใต้ภาพถอดเป็นอักษรไทยดังนี้ –
มุนินฺทวทนมฺพุช ….. คพฺภสมฺภวสุนฺทริ
ปาณีนํสรณํวาณี ….. มยฺหํปิณยตํมนํ ฯ
ข้อความที่เป็นอักษรไทยอ่านได้ว่า –
“รูปสุนทรีวาณี ถ่ายจากแบบของสมเด็จพระวันรัตน์ แดง วัดสุทัศน์”
โปรดสังเกตว่า
๑ คาถาบาทแรก “มุนินฺทวทนมฺโพช-” ในภาพนี้เป็น “มุนินฺทวทนมฺพุช” (-นมฺพุช ไม่ใช่ -นมฺโพช)
๒ คาถาบาทที่ 3 “สรณํ ปาณินํ วาณี” ในภาพนี้เป็น “ปาณีนํสรณํวาณี” คือสลับคำกัน ตามฉบับที่ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง แปล เป็น “สรณํ ปาณินํ” แต่ในภาพนี้เป็น “ปาณีนํสรณํ”
ถามว่า ฉบับไหนถูก? ก็แล้วแต่ว่าใครได้ต้นฉบับมาอย่างไร กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า-ก็แล้วแต่ว่าจะยึดเอาฉบับไหนเป็นหลัก แต่พึงทราบว่า แม้จะสลับคำกัน แต่คงแปลได้ความตรงกัน
ยังเหลือคาถาบาทสุดท้ายอีกบาทหนึ่ง ซึ่งจะได้นำมาแถลงต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พึ่งเทพก็ยังไม่พ้นกรรม
: พึ่งธรรมพ้นจากเกิดแก่เจ็บตาย
#บาลีวันละคำ (2,424)
31-1-62