บาลีวันละคำ

คาถาพระสุนทรีวาณี [5] (บาลีวันละคำ 2425)

คาถาพระสุนทรีวาณี [5]

แถลงศัพท์ : มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ 

คาถาพระสุนทรีวาณี” มีข้อความดังนี้ —

…………..

มุนินฺทวทนมฺโพช-…..คพฺภสมฺภวสุนฺทรี

สรณํ ปาณินํ วาณี…..มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ.

พระวาณี คือพระสัทธรรมอันงดงาม สมภพในห้อง-

แห่งบงกช กล่าวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี

เป็นที่พึ่งแห่งปาณชาติทั้งหลาย

โปรดยังใจของข้าพระองค์ให้เอิบอิ่ม เทอญ.

…………..

จะได้อธิบายศัพท์ต่างๆ พอเป็นอลังการแห่งความรู้ไปตามลำดับ

บาทที่ 4 “มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ” (มัยหัง ปีณะยะตัมมะนัง) มีศัพท์ว่า “มยฺหํ” “ปีณยตํ” “มนํ

(๑) “มยฺหํ

อ่านว่า ไม-หัง เป็นปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “อุตตมบุรุษ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ)

อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มยฺหํ” (ไม-หัง) แปลตามศัพท์ว่า “ของข้าพเจ้า

(๒) “ปีณยตํ

อ่านว่า ปี-นะ-ยะ-ตัง เป็นคำกริยา “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก ปีณฺ (ธาตุ = เอิบอิ่ม, ชุ่มชื่น, เต็มเปี่ยม) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ) + ตํ วิภัตติอาขยาต (เอกพจน์ ปฐมบุรุษ หรือบุรุษที่หนึ่ง = สิ่งหรือผู้ที่ถูกพูดถึง)

: ปีณฺ + ณฺย = ปีณณฺย > ปีณย + ตํ = ปีณฺยตํ แปลว่า “จงยัง–ให้เอิบอิ่ม

(๓) “มนํ

อ่านว่า มะ-นัง รูปคำเดิมเป็น “มน” (มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

: มนฺ + = มน แปลตามศัพท์ว่า “ตัวรู้

(2) มา (ธาตุ =นับ, กะ, ประมาณ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ลบสระที่สุดธาตุ (มา > )

: มา > + ยุ > อน : + อน = มน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดนับอารมณ์

มน” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง ใจ, หัวใจ, ความคิด (mind, heart, thought)

มน” แจกรูปด้วยวิภัตตินามที่สอง เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มนํ

ปีณยตํ” สนธิกับ “มนํ” แปลงนิคหิตที่ –ตํ เป็น มฺ จึงเป็น “ปีณยตมฺมนํ

พึงทราบว่า คาถาบาทที่ 4 นี้ บางฉบับ “ปีณยตํ” กับ “มนํ” ไม่สนธิกันก็มี คือเป็น “มยฺหํ ปีณยตํ มนํ

หลักภาษา : “สนธิ” กับ “สมาส” ต่างกัน

(๑) “สนธิ” คือการเอาคำ 2 คำมาเชื่อมกันตามกฎเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ทำให้รูปคำและการออกเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม แต่คำทั้ง 2 ยังคงเป็นคนละคำกัน

เช่นในที่นี้ “ปีณยตํ” อ่านว่า ปี-นะ-ยะ-ตัง เมื่อมาเชื่อมกับ “มนํ” เป็น “ปีณยตมฺมนํ” ปี-นะ-ยะ-ตัง กลายเป็น ปี-นะ-ยะ-ตัม- (-ตัง กลายเป็น –ตัม) แต่ “ปีณยตํ” กับ “มนํ” ยังคงเป็นคนละคำกัน ไม่ใช่คำเดียวกัน เวลาแปลต้องแยกกันแปลคนละคำ

(๒) “สมาส” คือการเอาคำตั้งแต่ 2 คำมาชนกันตามกฎเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด อาจใช้กฎเกณฑ์ทางสนธิเข้าประกอบซึ่งอาจทำให้รูปและเสียงกลายไปด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ทำให้คำเหล่านั้นกลายเป็นคำเดียวกัน เช่น –

มุนิ + อินฺท = มุนินฺท เป็นคำเดียวกัน ใช้กฎเกณฑ์ทางสนธิด้วย (นิ + อินฺ = นินฺ)

มุนินฺท + วทน = มุนินฺทวทน เป็นคำเดียวกัน

มุนินฺทวทน + อมฺโพช = มุนินฺทวทนมฺโพช เป็นคำเดียวกัน ใช้กฎเกณฑ์ทางสนธิด้วย ( + อมฺ = นมฺ)

มุนินฺทวทนมฺโพช + คพฺภ = มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภ เป็นคำเดียวกัน

มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภ + สมฺภว = มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภว เป็นคำเดียวกัน

มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภว + สุนฺทรี = มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภวสุนฺทรี เป็นคำเดียวกัน

มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภวสุนฺทรี” จึงเป็นคำสมาสยืดยาว แต่นับเป็นคำเดียวกัน เวลาแปลต้องแปลรวมกันไปทีเดียว ซึ่งต่างจาก “ปีณยตมฺมนํ” ที่ “ปีณยตํ” ก็เป็นคำหนึ่ง “มนํ” ก็แยกเป็นอีกคำหนึ่ง

มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ” แปลยกศัพท์ว่า –

วาณี = อันว่าพระวาณี (คือพระสัทธรรม)

มนํ = ยังใจ

มยฺหํ = ของข้าพเจ้า

ปีณยตํ = จงให้เอิบอิ่ม

แปลทั้งประโยค : มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ = พระวาณี (คือพระสัทธรรม) จงยังใจของข้าพเจ้าให้เอิบอิ่ม

เป็นอันว่าประโยคสมบูรณ์ของ “คาถาพระสุนทรีวาณี” ก็อยู่ที่คาถาบาทสุดท้ายนี้

ขอสรุปด้วยคำที่เป็นวิชาการว่า “คาถาพระสุนทรีวาณี” นี้ –

วาณี” เป็นประธานในประโยค = เหตุกัตตา

มุนินฺทสุนฺทรี” เป็นคำขยายประธาน = วิเสสนะ

สรณํ” เป็นคำขยายประธานพิเศษ = วิกติกัตตา

ปาณินํ” เป็นคำขยาย “สรณํ” = สามีสัมพันธะ

ปีณยตํ” เป็นกริยา = อาขยาตบท เหตุกัตตุวาจก

มนํ” เป็นกรรมในประโยค = การีตกัมมะ

มยฺหํ” เป็นคำขยายกรรม = สามีสัมพันธะ

ศัพท์วิชาการเหล่านี้ นำมากล่าวพอล่อใจสมาชิกบาลีวันละคำผู้ใฝ่รู้ จะได้มีกำลังใจแสวงหาความรู้สืบต่อไป

อภิปราย :

มีคำที่พูดกันมาว่า “คาถาต้องอย่าแปล แปลแล้วไม่ขลัง

สิ่งที่ผู้เขียนบาลีวันละคำกำลังทำอยู่นี้นับว่าเป็นการสวนทางกับคำพูดนั้น ทั้งนี้โดยมีเหตุผลว่า คาถาต้องแปลจึงจะขลัง คาถาที่ขลังเพราะไม่แปลย่อมไม่ปลอดภัย เพราะวันใดเกิดมีคนแปลขึ้นมา ความขลังก็จะเสื่อมไป ถ้าไม่อยากให้เสื่อมก็ต้องไม่พยายามแปล เท่ากับบังคับให้อยู่กับความไม่รู้ การที่เราไม่รู้ว่ากำลังศรัทธาอยู่กับอะไรย่อมผิดวิสัยของชาวพุทธ

เพราะฉะนั้น คาถาต้องแปลจึงจะขลัง รู้คำแปลแล้วถ้าเห็นว่าไม่มีสาระ ก็เป็นโอกาสที่จะสลัดทิ้งไปตั้งแต่ต้นมือ แต่ถ้าเห็นว่ามีสาระ ก็จะเป็นแรงหนุนให้ศรัทธาหนักแน่นยิ่งขึ้น ยิ่งถ้ารู้คำแปลแบบถึงรากถึงโคน ก็ยิ่งเกิดปัญญา ปัญญาก็ไปหนุนศรัทธาให้มั่นคง ศรัทธาที่มั่นคงก็จะหนุนให้ปัญญาก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

จุดอ่อนอย่างยิ่งของชาวพุทธในบ้านเราก็คือ มีศรัทธา แต่ไม่มีปัญญาแม้ในเรื่องที่ตนกำลังศรัทธาอยู่นั่นเอง

สรุป :

คาถาพระสุนทรีวาณี” เป็นข้อความประณามพระรัตนตรัยปรากฏอยู่ในคัมภีร์สุโพธาลังการ ท่านผู้รจนายกเอาพระธรรมรัตน์ขึ้นเป็นที่ตั้ง ดังที่ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า —

…………..

… ท่านผู้รจนาได้เปล่งจินตนาการของท่าน ซึ่งเปี่ยมด้วยความเลื่อมใสในพระสัทธรรม ออกมาเป็นภาพแห่งนางฟ้า คือ พระวาณี อันเป็นนามหนึ่งของพระสุรัสวดี เทพเจ้าประจำวาจา เป็นผู้งดงาม … เป็นการยกสิ่งที่เป็นอรูปขึ้นกล่าวในสิ่งที่เป็นรูป …

…………..

การอุปมา “ธรรม” เป็น “เทพ” นี้เป็นเพียงกลวิธีเพื่อจะให้ผู้สดับสามารถเข้าใจความหมายได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ท่านผู้รจนาคงมิได้มีความประสงค์จะชวนให้ชาวเราเปลี่ยนไปเคารพบูชาเทพแทนธรรมแต่ประการใด

ตรงจุดนี้ ถ้าไม่ระวังให้ดี เราจะพากันหลงทาง

ในปัจจุบันนี้ วัดในบ้านเมืองของเราอันเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้มีการสร้างรูปเทพเพื่อให้เป็นที่เคารพกันดกดื่นขึ้น ทั้งเทพที่เรียกกันว่าพระโพธิสัตว์ และเทพที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเทพในลัทธิศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แล้วพยายามอธิบายไปในทางสมานฉันท์กลมกลืนกันระหว่างศาสนา ทั้งนี้โดยยกเอาศรัทธาคือความเชื่อความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง

พูดด้วยสำนวนธุรกิจก็ว่า-ผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด เพื่อความอยู่รอด

เราอาจจะลืมฉุกคิดกันว่า-อะไรอยู่รอด และอยู่รอดไปเพื่ออะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระบรมครูสอนประชาชนให้ถือธรรมนำจิต

: แต่สานุศิษย์กำลังวิ่งตามความต้องการของประชาชน

#บาลีวันละคำ (2,425)

1-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *