คาถาพระสุนทรีวาณี [3] (บาลีวันละคำ 2423)
คาถาพระสุนทรีวาณี [3]
แถลงศัพท์ : คพฺภสมฺภวสุนฺทรี
“คาถาพระสุนทรีวาณี” มีข้อความดังนี้ —
…………..
มุนินฺทวทนมฺโพช-…..คพฺภสมฺภวสุนฺทรี
สรณํ ปาณินํ วาณี…..มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ.
พระวาณี คือพระสัทธรรมอันงดงาม สมภพในห้อง-
แห่งบงกช กล่าวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี
เป็นที่พึ่งแห่งปาณชาติทั้งหลาย
โปรดยังใจของข้าพระองค์ให้เอิบอิ่ม เทอญ.
…………..
จะได้อธิบายศัพท์ต่างๆ พอเป็นอลังการแห่งความรู้ไปตามลำดับ
บาทที่ 2 “คพฺภสมฺภวสุนฺทรี” (คับ-พะ-สำ-พะ-วะ-สุน-ทะ-รี) แยกศัพท์ได้ คือ คพฺภ + สมฺภว + สุนฺทรี
(๑) “คพฺภ”
อ่านว่า คับ-พะ ศัพท์นี้มีรากศัพท์มาหลายทาง ในที่นี้ขอแสดงเพียงทางเดียว คือ คส (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อภ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ คสฺ เป็น พฺ (คสฺ > คพฺ)
: คสฺ + อภ = คสฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เป็นไปปกติ” (คือมีทั่วไป)
“คพฺภ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ภายใน, โพรง (interior, cavity) = ภายในของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กลวงหรือว่าง
(2) ห้องใน, ห้องส่วนตัว, ห้องนอน, กุฏิ (an inner room, private chamber, bedroom , cell) = ห้อง
(3) ความพองขึ้นของมดลูก (ตั้งท้อง), ครรภ์ (the swelling of the (pregnant) womb, the womb) = ตั้งท้อง
(4) สิ่งที่อยู่ในมดลูก, ไข่ที่กลายเป็นตัวอ่อน, ลูกอ่อนในครรภ์ (the contents of the womb, the embryo, foetus) = ลูกในท้อง
ในที่นี้ “คพฺภ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
(๒) “สมฺภว”
อ่านว่า สำ-พะ-วะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ) (ภู > โภ > ภว)
: สํ > สมฺ + ภู = สมฺภู + อ = สมฺภู > สมฺโภ > สมฺภว แปลตามศัพท์ว่า “ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งผล”
“สมฺภว” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สมภพ, การเกิด, กำเนิด (origin, birth, production)
(2) น้ำสมภพ, น้ำกาม (semen virile)
ในที่นี้ “สมฺภว” ใช้ในความหมายว่า เกิด
(๓) “สุนฺทรี”
อ่านว่า สุน-ทะ-รี (มีจุดใต้ นฺ) รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ทรฺ (ธาตุ = เอื้อเฟื้อ) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ สุ แล้วแปลงเป็น นฺ (สุ > สุํ > สุนฺ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สุ > สุํ > สุนฺ + ทรฺ = สุนฺทร + อี = สุนฺทรี แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันจิตเอื้อเฟื้อด้วยดี” หมายถึง สวยงาม, ดี, งาม (beautiful, good, nice, well)
“สุนทรี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“สุนทรี : (คำนาม) หญิงงาม, นางงาม, หญิงทั่วไป. (ส., ป.).”
การประสมคำ :
– คพฺภ + สมฺภว = คพฺภสมฺภว (คับ-พะ-สำ-พะ-วะ) แปลว่า “เกิดในห้อง” หมายถึง-ในส่วนที่เป็นโพรงหรือกระพุ้งของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งในที่นี้คือ “ห้องแห่งดอกบัว”
– คพฺภสมฺภว + สุนฺทรี = คพฺภสมฺภวสุนฺทรี (คับ-พะ-สำ-พะ-วะ-สุน-ทะ-รี) แปลว่า “(… นางฟ้า) ผู้มีความงามซึ่งเกิดในห้อง (แห่งดอกบัว)”
ขยายความ :
“คพฺภสมฺภวสุนฺทรี” เป็นคาถาบาทที่ 2 และเป็นคำที่สมาสต่อเนื่องมาจากบาทที่ 1 คือ “มุนินฺทวทนมฺโพช-” (มุนินทะวะทะนัมโพชะ-) ถ้าเขียนติดกันเป็นข้อความปกติ ก็จะเป็นดังนี้ –
“มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภวสุนฺทรี”
(มุนินทะวะทะนัมโพชะคัพภะสัมภะวะสุนทะรี)
“วากยสัมพันธ์” – ศิลปะในการจับความหมายและเรียงคำ :
เวลานี้มีปัญหาว่าเด็กไทยอ่านหนังสือไม่แตก คืออ่านแล้วจับความหมายไม่เป็น และเขียนหนังสือไม่เป็นภาษา คือเอาคำมาเรียงกันไม่ได้ความ ทั้งนี้เพราะไม่เคยเรียนหลัก “วากยสัมพันธ์” คือความเกี่ยวข้องกันของถ้อยคำ
คำว่า “มุนินฺทวทนมฺโพชคพฺภสมฺภวสุนฺทรี” อาจใช้เป็นตัวอย่างในการแบ่งคำและจับความหมายของคำอย่างง่ายๆ พอเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ดังนี้
๑ “สมฺภวสุนฺทรี” = นางฟ้าผู้มีความงามซึ่งเกิดขึ้น–
๒ “คพฺภสมฺภว” = เกิดขึ้นในห้อง
๓ “อมฺโพชคพฺภ” = ห้องแห่งดอกบัว (คือกลีบดอกบัวที่หุ้มเข้าด้วยกันเป็นที่ว่างอยู่ภายใน)
๔ “วทนมฺโพช” = ดอกบัวคือพระโอษฐ์
๕ “มุนินฺทวทน” = พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า
ข้อความนี้เปรียบห้องแห่งดอกบัวเหมือนพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า
ห้องแห่งดอกบัวเป็นที่อุบัติของนางฟ้าผู้เลอโฉม ฉันใด
พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าก็เป็นที่หลั่งไหลออกแห่งพระธรรมอันงามพร้อมทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด ฉันนั้น
แต่คาถา 2 บาทนี้ก็ยังไม่จบความในตัวเอง เพราะจบคำลงเพียงคำว่า “… สุนฺทรี” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีความงาม” แต่ใครคือเจ้าของความงามนี้ ท่านยกไปกล่าวไว้ในบาทที่ 3 ซึ่งจะต้องติดตามศึกษากันต่อไปอีก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เมื่อธรรมเกิด
: ทุกข์ก็ดับ
#บาลีวันละคำ (2,423)
30-1-62