บาลีวันละคำ

พุทธุปบาทกาล (บาลีวันละคำ 2,655)

พุทธุปบาทกาล

ถึงไม่ได้ใช้ ก็รู้ไว้เป็นอลังการ

อ่านว่า พุด-ทุบ-บาด-ทะ-กาน

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + อุปบาท + กาล

(๑) “พุทธ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

one who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

(๒) “อุปบาท

บาลีเป็น “อุปฺปาท” (อุบ-ปา-ทะ) รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ซ้อน ปฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ปฺ + ปทฺ), ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ปทฺ > ปาท)

: อุ + ปฺ + ปทฺ = อุปฺปทฺ + = อุปฺปทณ > อุปฺปท > อุปฺปาท แปลตามศัพท์ว่า “การขึ้นไป” หมายถึง การอุบัติ, การปรากฏขึ้น, การเกิด (coming into existence, appearance, birth)

อุปฺปาท” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาท” (อุ-บาด) และ “อุปบาท” (อุบ-บาด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุบาท, อุปบาท : (คำนาม) การบังเกิด, กําเนิด, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น พุทธุบาท (พุทธ + อุบาท), พุทธุปบาท (พุทธ + อุปบาท). (ป. อุปฺปาท; ส. อุตฺปาท).”

(๓) “กาล

บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)

: กลฺ + = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

การประสมคำ :

พุทฺธ + อุปฺปาท = พุทฺธุปฺปาท (พุด-ทุบ-ปา-ทะ) แปลว่า “การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า

พุทฺธุปฺปาท + กาล = พุทฺธุปฺปาทกาล (พุด-ทุบ-ปา-ทะ-กา-ละ) แปลว่า “กาลเวลาแห่งการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธุปฺปาทกาล” ว่า the coming into existence of a Buddha, time or age in which a Buddha was born (opp. buddh’ antara), a Buddha-period (ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า, สมัยหรือยุคที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น [ตรงข้าม พุทฺธนฺตร], ยุคที่มีพระพุทธเจ้า)

พุทฺธุปฺปาทกาล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พุทธุปบาทกาล” (พุด-ทุบ-บาด-ทะ-กาน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พุทธุปบาทกาล : (คำนาม) ช่วงเวลาที่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก. (ป.).”

อภิปรายขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “พุทธุปบาทกาล” ไว้สั้นๆ ดังนี้

พุทธุปบาทกาล : กาลเป็นที่อุบัติของพระพุทธเจ้า, เวลาที่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก.”

…………..

พุทธุปบาทกาล” หมายถึง ช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งอุบัติขึ้นแล้วทรงประกาศพระศาสนาให้ชาวโลกรู้จัก นับจากนั้นไป แม้ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม ตราบเท่าที่ชาวโลกยังรู้จักคำสอนของพระองค์อยู่ จนกระทั่งถึงกาลที่พระธาตุอันตรธานอันนับว่าพระพุทธศาสนาสูญสิ้นแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวนี้แหละเรียกว่า “พุทธุปบาทกาล” ต่อจากนั้นก็จะเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า “พุทธันดร

พุทธุปบาทกาล” เป็นคำที่ควรจับคู่กับคำว่า “พุทธันดร” ซึ่งหมายถึง ช่วงเวลาที่โลกว่างพระพุทธศาสนา คือ ช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ

เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่อุบัติขึ้นอีก ก็เริ่มเป็น “พุทธุปบาทกาล” ต่อไปอีก

ดูเพิ่มเติม: “พุทธันดร” บาลีวันละคำ (1,870) 23-7-60

อภิปรายแถม :

ผู้เขียนบาลีวันละคำเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 พบคำว่า “พุทธุปบาทกาล” ก็ดีใจแกมอัศจรรย์ใจ ดีใจที่มีคำสำคัญเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ อัศจรรย์ใจว่าราชบัณฑิตยฯ ท่านคิดอย่างไรของท่านจึงเก็บคำนี้ไว้ในพจนานุกรมฯ

คำว่า “พุทธุปบาทกาล” นี้ รับรองได้ว่าร้อยวันพันปีไม่มีใครเอาไปใช้พูดใช้เขียน แต่ท่านเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

คำอีกเป็นอันมากที่มีคนพูดคนเขียนในชีวิตประจำวัน ท่านกลับไม่เก็บ เช่นคำว่า “ธรรมสวนะ” (หมายถึง การฟังธรรม) เป็นคำวัดๆ เช่นเดียวกับ “พุทธุปบาทกาล” แต่คุ้นปากกว่าด้วยซ้ำ พจนานุกรมฯ กลับไม่ได้เก็บคำนี้ไว้

แต่ก็แปลกอีก พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 ไม่เก็บคำว่า “ธรรมสวนะ” แต่ไปเก็บคำว่า “ธัมมัสสวนมัย” (ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ-ไม, หมายถึง บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม) แต่ก็ไม่มีคำว่า “ธัมมัสสวนะ” (ความหมายเดียวกับ “ธรรมสวนะ” เพียงแต่สะกดต่างกัน)

ธรรมสวนะ” ไม่มี

ธัมมัสสวนะ” ก็ไม่มี

แต่ข้ามไปมี “ธัมมัสสวนมัย

นับเป็นความชอบกลอย่างหนึ่งของพจนานุกรมฯ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หมั่นทำบุญตักบาตรไว้ชาติหน้า

: จะรอท่าพระศรีอารย์อีกนานไหม

: ชาตินี้มีพระธรรมไว้ทำอะไร

: แล้วชาติไหนจึงจะฮึดประพฤติธรรม

#บาลีวันละคำ (2,655)

19-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย