บาลีวันละคำ

อันเตวาสิก (บาลีวันละคำ 2420)

อันเตวาสิก

“คนอยู่ข้างใน” อาจไม่ใช่คนอยู่ในหัวใจ

อ่านว่า อัน-เต-วา-สิก

ประกอบด้วยคำว่า อันเต + วาสิก

(๑) “อันเต

บาลีเป็น “อนฺเต” (อัน-เต) ตำราไวยากรณ์บาลีบอกว่าเป็นศัพท์จำพวกอุปสรรค คงรูปเป็น “อนฺเต” และไม่ใช่เดี่ยวๆ แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ แปลว่า ใกล้, ข้างใน, ภายใน (near, inside, within) เช่น “อนฺเตปุร” (อัน-เต-ปุ-ระ) แปลว่า “ภายในเมือง

(๒) “วาสิก

บาลีอ่านว่า วา-สิ-กะ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่, พำนัก) + ณิก ปัจจัย, ลบ (ณิก > อิก), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)

: วสฺ + ณิก = วสณิก > วสิก > วาสิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พำนักอยู่” หมายความว่า อาศัยอยู่ใน- (dwelling in)

อนฺเต + วาสิก = อนฺเตวาสิก > อันเตวาสิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติอยู่ใกล้อาจารย์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนฺเตวาสิก” ว่า one who lives in, i. e. lodges or lives with his master or teacher, a pupil (ผู้อาศัยอยู่ในนั้นด้วย, คือพักอยู่หรืออยู่กับนายหรือครูของเขา, นักเรียน)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อันเตวาสิก” (Antevāsika) เป็นอังกฤษว่า one who lives in; a monk who lives under his teacher; a pupil; apprentice.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อันเตวาสิก : (คำนาม) ‘ชนผู้อยู่ในภายใน’ หมายถึง ศิษย์ที่อยู่ในปกครองหรือที่อาศัยอยู่กับอาจารย์ จะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ได้, คู่กับ อาจารย์. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความ “อันเตวาสิก” ไว้ดังนี้ –

…………..

อันเตวาสิก : ผู้อยู่ในสำนัก, ภิกษุผู้ขออยู่ร่วมสำนัก, ศิษย์ (ภิกษุผู้รับให้อยู่ร่วมสำนักเรียกอาจารย์); อันเตวาสิกมี ๔ ประเภทคือ

๑. ปัพพชันเตวาสิก อันเตวาสิกในบรรพชา

๒. อุปสัมปทันเตวาสิก อันเตวาสิกในอุปสมบท

๓. นิสสยันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้ถือนิสัย

๔. ธัมมันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม

…………..

ไขความอันเตวาสิก 4 ประเภท :

ปัพพชันเตวาสิก อันเตวาสิกในบรรพชา คือเป็นศิษย์โดยการบรรพชาเป็นสามเณร

อุปสัมปทันเตวาสิก อันเตวาสิกในอุปสมบท คือเป็นศิษย์โดยการอุปสมบทเป็นภิกษุ

นิสสยันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้ถือนิสัย คือเป็นศิษย์โดยการมาอยู่ในปกครอง

ธัมมันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม คือเป็นศิษย์โดยการมาศึกษาเล่าเรียนด้วย

อาจจำเป็นหลักไว้ว่า “อันเตวาสิก” ย่อมคู่กับ “อาจารย์” เสมอไป เช่นเดียวกับ “สัทธิวิหาริก” คู่กับ “อุปัชฌาย์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนดี-เรียนได้ เป็นได้แค่ศิษย์อยู่ในสำนัก

: ประพฤตตนดีเป็นที่ประจักษ์ เป็นศิษย์อยู่ในหัวใจครูบาอาจารย์

—————

(ตามคำแนะนำของพระคุณท่าน ดร.พระมหาสุนันท์ รุจิเวทย์)

#บาลีวันละคำ (2,420)

27-1-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *