คาถาพระสุนทรีวาณี [1] (บาลีวันละคำ 2421)
คาถาพระสุนทรีวาณี [1]
คำที่เรียกว่า “คาถาพระสุนทรีวาณี” นี้ เรียกตามที่มีผู้เรียกกันทั่วไป ข้อความที่เป็นคาถามีดังนี้ —
…………..
เขียนแบบบาลี:
มุนินฺทวทนมฺโพช-…..คพฺภสมฺภวสุนฺทรี
สรณํ ปาณินํ วาณี…..มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ.
…………..
เขียนแบบคำอ่าน:
มุนินทะวะทะนัมโพชะ-…..คัพภะสัมภะวะสุนทะรี
สะระณัง ปาณินัง วาณี……มัยหัง ปีณะยะตัมมะนัง.
…………..
“คาถาพระสุนทรีวาณี” นี้ เป็นบทปณามคาถาในคัมภีร์สุโพธาลังการ ขอนำคำแปลและคำอธิบายของท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ —
…………..
ปณามคาถา
๑ มุนินฺทวทนมฺโพช-…..คพฺภสมฺภวสุนฺทรี
สรณํ ปาณินํ วาณี………มยฺหํ ปีณยตมฺมนํ.
พระวาณี คือพระสัทธรรมอันงดงาม สมภพในห้องแห่งบงกช กล่าวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี เป็นที่พึ่งแห่งปาณชาติทั้งหลาย โปรดยังใจของข้าพระองค์ให้เอิบอิ่ม เทอญ.
อธิบาย: คาถาประณามของคัมภีร์สุโพธาลังการนี้ แปลกจากคัมภีร์อื่น คือ ไม่ประณามพระพุทธเจ้าและพระสงฆเจ้า พูดถึงแต่พระธรรมเจ้าเท่านั้น ท่านผู้ขยายความพระคัมภีร์กล่าวว่า ทั้งนี้เพราะท่านผู้รจนามีความมุ่งหมายที่จะรจนาคัมภีร์อลังการ อันเป็นเหตุแห่งความเอิบอิ่มใจ ซึ่งจะบังเกิดอย่างสมบูรณ์ ต้องมีพระสัทธรรม กล่าวคือพระปริยัติ อันอาศัยโลกุตรธรรมเป็นอารมณ์ จึงกล่าวประณามพระธรรมรัตน์ แต่ความเลื่อมใสในพระธรรมเจ้านั้น ก็ย่อมสำเร็จแม้ในพระพุทธเจ้าและพระสงฆเจ้า เพราะไม่พรากกันได้ ฉะนั้นจึงเป็นอันว่าท่านผู้รจนาได้แสดงการประณามพระรัตนตรัยด้วยอัตถพฤติ
อนึ่ง ท่านผู้รจนาได้เปล่งจินตนาการของท่าน ซึ่งเปี่ยมด้วยความเลื่อมใสในพระสัทธรรม ออกมาเป็นภาพแห่งนางฟ้า คือ พระวาณี อันเป็นนามหนึ่งของพระสุรัสวดี เทพเจ้าประจำวาจา เป็นผู้งดงาม ยังผลที่ปรารถนาทั้งปวงให้สำเร็จ นี้เป็นเรื่องที่เข้าใจกันอยู่ในโลก เช่นอย่างที่ไทยเราก็มีสำนวนพูดอยู่ว่า “พูดดีเป็นเงินเป็นทอง” ก็เท่ากับผู้ที่พูดดีนี้มีเทพเจ้าประจำลิ้นของตน แต่จินตนาการของท่านผู้รจนาคัมภีร์นี้ แสดงออกเป็นภาพพจน์ที่ว่า “พระวาณี คือพระสัทธรรมอันงดงาม สมภพในห้องแห่งบงกช กล่าวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี” เป็นการยกสิ่งที่เป็นอรูปขึ้นกล่าวในสิ่งที่เป็นรูป และแสดงว่าพระวาณีที่สมภพในห้องแห่งบงกชคือพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เป็นที่พึ่งของปาณชาติทั้งหลายได้
ภาพพระวาณีนี้ ต่อมา สมเด็จพระวันรัต แดง วัดสุทัศน์ ได้ให้ช่างเขียนเป็นภาพเทพธิดานั่งขัดสมาธิในดอกบัว หัตถ์ขวายกในท่ากวัก หัตถ์ซ้ายวางที่ตัก มีดวงแก้ววางอยู่ ทำนองจะเรียกให้มาชมให้มารับแก้ว คือ พระธรรม ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ได้ทรงรับสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงเขียนเป็นภาพทำนองนั้น เพื่อประดิษฐานที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร จะอยู่ตรงไหนไม่ทราบ ภาพนี้มีพระราชดำรัสเรียกว่า “เอหิปัสสิโก” เป็นพระคุณบทของพระธรรมบทหนึ่ง แปลว่า “เชิญมาดูได้”
นอกจากนี้ ในทางวิทยาคมถือว่า คาถานี้ผู้ใดสังวัธยายเนืองๆ จะอุดมด้วยลาภผล ดังนี้.
—
ที่มา: พระคัมภีร์สุโพธาลังการ นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง แปลและอธิบาย. พิมพ์ครั้งที่ 2 ในงานบำเพ็ญกุศลฉลองอายุ 60 ปี นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง, ธันวาคม 2512
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สร้างเทพขึ้นแทนธรรม
อย่าทิ้งธรรมไว้โทงเทง
: ธรรมย้ำให้ทำเอง
ใช่สวดเพลงเพื่อขอพร
—————
(ตามคำขอของ Kanin Kongza, หนังสือ พระคัมภีร์สุโพธาลังการ ด้วยความเอื้อเฟื้อของ อาทิตย์ จันทบุรี)
#บาลีวันละคำ (2,421)
28-1-62