วัชรอาสน์ (บาลีวันละคำ 4,522)

วัชรอาสน์
พระแท่นสายฟ้า
อ่านว่า วัด-ชะ-ระ-อาด
ประกอบด้วยคำว่า วัชร + อาสน์
(๑) “วัชร”
บาลีเป็น “วชิร” อ่านว่า วะ-ชิ-ระ รากศัพท์มาจาก วชฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิร ปัจจัย
: วชฺ + อิร = วชิร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไปได้เรื่อย” (คือไม่มีอะไรขัดขวางการไปได้) (2) “สิ่งที่ไปอย่างไม่มีอะไรขัดขวาง”
ตามคำแปลตามศัพท์ “วชิร” หมายถึง สายฟ้า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เก็บคำว่า “วชิร” (vajira) ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) vajira1 : a thunderbolt; usually with ref. to Sakka’s [=Indra’s] weapon (อสนีบาต, ตามปกติเกี่ยวถึงอาวุธของท้าวสักกะ [พระอินทร์])
(2) vajira2 : a diamond (เพชร)
สรุปว่า “วชิร” ในภาษาบาลีหมายถึง –
(1) อสนีบาต หรือสายฟ้า (a thunderbolt) ซึ่งถือว่าเป็น “อาวุธพระอินทร์”
(2) แก้วที่แข็งที่สุดและมีน้ำแวววาวมากกว่าพลอยอื่น ๆ นั่นคือที่เราเรียกในภาษาไทยว่า “เพชร” (diamond)
บาลี “วชิร” สันสกฤตเป็น “วชฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วชฺร : (คำวิเศษณ์) ‘วัชร,’ แข็ง, อันแทงไม่ทลุตลอด; อันมีง่าม; hard, impenetrable; forked; (คำนาม) – กุลิศ, อศนิ (หรือ อศนี), อศนิบาต; ศรพระอินทร์; เพ็ชร์; เด็กหรือศิษย์; ปรุษศัพท์, ปรุษวาจ; นักษัตรโยคอันหนึ่ง; กุศฆาส, หญ้ากุศะ; a thunder-bolt; the thunder-bolt of Indra; diamond; a child or pupil; harsh language; one of the astronomical Yogas; Kuśa grass.”
จะเห็นว่า “วชฺร” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างว่า “วชิร” ในบาลี
ในที่นี้ ภาษาไทยใช้ว่า “วัชร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัชร-, วัชระ : (คำนาม) วชิระ. (ส. วชฺร; ป. วชิร).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “วัชร” คือ “วชิระ” เป็นอันว่า รูปคำที่ใช้เป็นหลักในภาษาไทยใช้เป็น “วชิระ”
ที่คำว่า “วชิระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วชิร-, วชิระ : (คำนาม) สายฟ้า; เพชร; อาวุธพระอินทร์. (ป.; ส. วชฺร).”
(๒) “อาสน์”
เขียนแบบบาลีเป็น “อาสน” อ่านว่า อา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง”
(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > ส, ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน) หมายถึง (1) การนั่ง, การนั่งลง (sitting, sitting down) (2) ที่นั่ง, บัลลังก์ (a seat, throne)
หมายเหตุ: “อาสน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” เป็นการแปลตามรูปวิเคราะห์ แต่หมายถึง “ที่นั่ง” เพราะโดยปกติแม้จะนอนก็ต้องนั่งก่อน
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาสน– ๒, อาสน์, อาสนะ : (คำนาม) ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”
วชิร + อาสน = วชิราสน (วะ-ชิ-รา-สะ-นะ) แปลว่า “ที่นั่งอันเป็นวชิระ” หมายความว่า ที่นั่งอันมีค่าประดุจเพชร หรือที่นั่งอันมีอำนาจประดุจสายฟ้า คือตัดสรรพกิเลสาสวะได้สิ้นเชิง

ขยายความ :
ในคัมภีร์บาลี มีคำว่า “วชิราสน” ปรากฏในอรรถกถาอุทาน ข้อความว่าดังนี้ –
…………..
เอกปลฺลงฺเกนาติ วิสาขาปุณฺณมาย อนตฺถงฺคเตเยว สูริเย อปราชิตปลฺลงฺเกน วชิราสเน นิสินฺนกาลโต ปฏฺฐาย สกิมฺปิ อนุฏฺฐหิตฺวา ยถาอาภุชิเตน เอเกเนว ปลฺลงฺเกน ฯ
คำว่า เอกปลฺลงฺเกน หมายความว่า โดยนั่งขัดสมาธิท่าเดียวเท่านั้น ไม่ได้เสด็จลุกขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว ตั้งแต่เวลาที่ประทับนั่งเหนือวัชรอาสน์โดยอปราชิตบัลลังก์อันประเสริฐ ในเวลาดวงอาทิตย์ยังไม่ทันอัสดงในวันวิสาขบุณมี
ที่มา: ปรมัตถทีปนี อุทานวัณณนา หน้า 48
…………..
คัมภีร์อรรถกถาชาดกขยายความไว้ว่า –
…………..
กามํ ตโจ นหารู จ
อฏฺฐิ จ อวสิสฺสตุ
สพฺพํปิ หิทํ สรีเร
มํสโลหิตํ อุปสุสฺสตุ
ตตฺเถว สมฺมาสมฺโพธึ อปฺปตฺวา อิมํ ปลฺลงฺกํ น ภินฺทิสฺสามีติ อสนิสตสนฺนิปาเตนาปิ อเภชฺชรูปํ อปราชิตํ ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา นิสีทิ ฯ
(พระโพธิสัตว์มีพระมนัสมั่นคง) ทรงนั่งคู้อปราชิตบัลลังก์ซึ่งแม้สายฟ้าจะผ่าลงตั้งร้อยครั้งก็ไม่แตกทำลาย โดยทรงอธิษฐานว่า –
เนื้อและเลือดในสรีระนี้แม้ทั้งสิ้น
จงเหือดแห่งไปเถิด
จะเหลือแต่หนัง เอ็น
และกระดูกก็ตามที
เราไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณบนบัลลังก์นี้แล จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้
ที่มา: อวิทูเรนิทาน ชาตกัฏฐกถา ภาค 1 หน้า 131

…………..
บาลี “วชิราสน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัชรอาสน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัชรอาสน์ : (คำนาม) อาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย ในวันตรัสรู้ เรียกว่า พระแท่นวัชรอาสน์, โพธิบัลลังก์ หรือ รัตนบัลลังก์ ก็เรียก. (ส. วชฺราสน).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
ไม่ได้ไปไหว้วัชรอาสน์ที่อินเดีย ไม่ต้องเสียใจ –
: ลงมือทำความดีครั้งใด ตัดสินใจได้เด็ดขาด
: วัชรอาสน์ก็อยู่ตรงหน้านั่นเอง
#บาลีวันละคำ (4,522)
29-10-67
…………………………….
…………………………….