ราหูอมจันทร์ (บาลีวันละคำ 2415)
ราหูอมจันทร์
บาลีว่าอย่างไร
“ราหู” บาลีเป็น “ราหุ” (-หุ สระ อุ) รากศัพท์มาจาก รหฺ (ธาตุ = ละ, สิ้น) + ณุ ปัจจัย, ลบ ณ,(ณุ > อุ), ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ร-(หฺ) เป็น อา (รหฺ > ราห)
: รหฺ + ณุ > อุ : รหฺ + อุ = รหุ > ราหุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังความงามของดวงจันทร์เป็นต้นให้สิ้นไป”
บาลี “ราหุ” ในภาษาไทยมักเรียกว่า “ราหู” (-หู สระ อู) แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ 3 รูป คือ “ราหุ” “ร่าห์” และ “ราหู” บอกไว้ดังนี้ –
“ราหุ, ร่าหุ์, ราหู ๑ : (คำนาม) ชื่ออสูรตนหนึ่งมีตัวขาดครึ่งท่อน เชื่อกันว่าเมื่อเวลามีสุริยคราสหรือจันทรคราสเป็นเพราะดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ถูกราหูอมเอาไว้, ในตําราโหรว่า เป็นเทวดาพระเคราะห์ มีอาภรณ์และพาหนะสีคลํ้า; (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) ชื่อดาวพระเคราะห์ดวงที่ ๗ หมายถึงตําแหน่งที่ดวงจันทร์ผ่านจากใต้ระนาบสุริยวิถีขึ้นเหนือระนาบสุริยวิถี ส่วนตําแหน่งที่ดวงจันทร์ผ่านจากเหนือระนาบสุริยวิถีลงสู่ใต้ระนาบสุริยวิถี เรียกว่า พระเกตุ. (ป., ส. ราหุ).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน อธิบายเรื่อง “ราหุ” ละเอียดออกไปอีก ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ราหุ : (คำนาม) ‘ราหู, หรือพระราหู,’ อุทยบาต, อุทัยบาต [ในปุราณศาสตร์, บุตรของสินหิกา, ไทตยะ, อันมีหางเปนมังกร, ศีรษะถูกบั่นขาดจากศรีรโดยพระวิษณุ, แต่ไม่ตาย, ศีรษะกับหางต่างถือครองชีวิตอยู่คนละส่วน, และต้องโยกย้ายไปยังดารามณฑล, เปนอุปราคกฤต (ผู้บันดาลให้เกิด ‘สูรโยปราคะและจันโทฺรปราคะ’); หางเปนต้นทำความพยายามอยู่เนืองนิตยที่จะกลืนพระอาทิตย์และพระจันทร์]; the ascending node [in mythology, the son of Sinhikā, a Daitya, with the tail of a dragon, whose head was severed from his body by Vishṇu, but being immortal, the head and the tail retained their separate existence, and being transferred to the stellar sphere, become the authors of eclipses; the tail, especially, is endeavouring at various times to swallow the sun and the moon].”
“ราหุ” หรือพระราหู ในบาลีมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “จนฺทคฺคาห” (จัน-ทัก-คา-หะ) ประกอบด้วยคำว่า จนฺท + คาห
(๑) “จนฺท” (จัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) จทิ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ, รุ่งเรือง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ, แปลงนิคหิตเป็น นฺ, ลบสระที่สุดธาตุ
: จทิ > จํทิ > จนฺทิ > จนฺท + อ = จนฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ยังสัตว์โลกให้พอใจ” (คือเมื่อเห็นแล้วผู้คนก็ชื่นใจ พอใจ) (2) “ผู้รุ่งเรืองด้วยสิริ” (คือมีแสงสว่างผ่องใส)
(2) ฉนฺท (ความพอใจ) + ก ปัจจัย, ลบ ก, แปลง ฉ เป็น จ
: ฉนฺท + ก = ฉนฺทก > ฉนฺท > จนฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังความพอใจให้เกิด”
“จนฺท” หมายถึง ดวงจันทร์ (the moon) คำไทยเรียก “เดือน”
บาลี “จนฺท” สันสกฤตเป็น “จนฺทฺร” (จัน-ทฺระ) ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “จันทร์”
(๒) “คาห” (คา-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + ณุ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ค-(หฺ) เป็น อา (คหฺ > คาห)
: คหฺ + ณ = คหณ > คห > คาห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การจับ” หมายถึง การยึด, การถือ, การจับ (seizing, seizure, grip) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง “ผู้จับ”
โปรดสังเกตหลักภาษา: “ราหุ” มาจาก รหฺ ธาตุ “คาห” มาจาก คหฺ ธาตุ เมื่อลง ณ ปัจจัย ใช้กฎเดียวกันคือ “ลบ ณ ทีฆะต้นธาตุ”
รหฺ = ราห (> ราหุ)
คหฺ = คาห
จนฺท + คาห ซ้อน คฺ ระหว่างคำ = จนฺทคฺคาห ตามศัพท์แปลว่า “ผู้จับพระจันทร์” คือพระราหู (lit. seizure, i. e. by Rāhu)
ตามรากศัพท์ที่แสดงมา “จนฺทคฺคาห” หมายถึง ราหู หรือพระราหู ไม่ได้หมายถึง จันทรคราส หรือ จันทรุปราคา
แต่เมื่อใช้ไปใช้มา ความหมายก็เคลื่อนที่ไป กลายเป็นหมายถึงกิริยาที่ราหูกินจันทร์ คือหมายถึงจันทรคราสหรือจันทรุปราคาด้วย ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แสดงความหมายไว้ที่คำว่า “คราส” ดังนี้ –
“คราส : (คำกริยา) กิน เช่น จันทรคราส สุริยคราส (โบราณ เขียนเป็น จันทรคาธ สุริยคาธ โดยถือว่ามาจากบาลีว่า จนฺทคฺคาห สุริยคฺคาห); จับ, ถือ, เช่น สิบนิ้วคราสคนธกำจร เทียนธูปบวร. (สมุทรโฆษ). (ส.).”
“จนฺทคฺคาห” ที่เดิมหมายถึงพระราหู (Rāhu) ความหมายจึงขยายไปหมายถึงจันทรุปราคา (a moon-eclipse) อีกด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ราหูจับจันทร์นานๆ ที มีคนวิจารณ์ร้อยความคิด
: กิเลสจับใจทุกขณะจิต เมื่อไรจึงจะคิดจัดการ?
#บาลีวันละคำ (2,415)
22-1-62