คาถาปัดเป่าฝุ่น PM 2.5 (บาลีวันละคำ 2410)
คาถาปัดเป่าฝุ่น PM 2.5
ควรทราบก่อน :
บาลีวันละคำพิจารณาเฉพาะในแง่ภาษาเท่านั้น ไม่มีความประสงค์จะสนับสนุนหรือคัดค้านคาถานี้ ใครจะเชื่อจะเลื่อมใส หรือไม่เชื่อไม่เลื่อมใส ย่อมขึ้นอยู่กับศรัทธาและสติปัญญาของแต่ละคน
…………..
คำบาลีที่เรียกว่า “คาถาปัดเป่าฝุ่น PM 2.5” นี้เป็นคำที่แต่งขึ้นใหม่ และตามที่ควรจะเป็นนั้นท่านผู้แต่งควรจะเป็นผู้อธิบายชี้แจงทั้งในแง่การใช้ถ้อยคำและความหมายหรือความมุ่งหมายของการใช้ถ้อยคำนั้นๆ
แต่เนื่องจากผู้แต่งไม่ได้แสดงตัว และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับคาถาฯ นี้เผยแพร่ออกมา ที่จะแสดงต่อไปนี้จึงมีคติอย่างเดียวกับแปลชื่อที่คนตั้งหรือเจ้าของชื่อเป็นคนหนึ่ง คนแปลเป็นอีกคนหนึ่ง โอกาสที่จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้แต่งจึงย่อมจะมีอยู่มาก
ผู้อ่านจึงควรทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า นี่ไม่ใช่เป็นคำอธิบายแทนท่านผู้แต่ง แต่เป็นการศึกษาในแง่ภาษาตามขอบเขตเงื่อนไขอันจำกัด ด้วยความประสงค์ที่จะให้ความรู้แก่กันเท่าที่จะให้กันได้เท่านั้น
“คาถาปัดเป่าฝุ่น PM 2.5” มีข้อความตามที่ปรากฏในภาพดังนี้ (ตัวสะกดและวรรคตอนตามต้นฉบับในภาพ)
…………..
คาถาปัดเป่าฝุ่น PM 2.5
สยามเทวาธิราชา จ วายุเทโว
จ วรุณเทโว จ เทยฺยรฏฺฐํ
อนุรกฺขนฺตุ อาธุลีเยนฯ สัพพาฑฺฒติยธุลี
วิวชฺชนฺตุ สัพพาฑฺฒติยธุลี วินสฺสนฺตุ
มา เม ภวตฺวนฺตราโย สุขี ทีฆายุโก โหมิฯ
(๓ จบ)
คำแปล
พระสยามเทวาธิราช และพระพาย และพระพิรุณ ขอจงอภิบาลรักษาประเทศไทย โดยให้ปราศจากฝุ่น ฝุ่น PM 2.5 ทั้งปวงจงบำราศไป ฝุ่น PM 2.5 ทั้งปวงจงหายไป อันตรายทั้งหลายอย่าได้มี ขอจงมีความสุข มีอายุยืน
…………..
คำบาลีเขียนเป็นคำอ่าน :
สยามะเทวาธิราชา จะ วายุเทโว
จะ วะรุณะเทโว จะ เทยยะรัฏฐัง
อะนุรักขันตุ อาธุลีเยนะฯ สัพพาฑฒะติยะธุลี
วิวัชชันตุ สัพพาฑฒะติยะธุลี วินัสสันตุ
มา เม ภะวัต๎วันตะราโย สุขี ทีฆายุโก โหมิฯ
แปลยกศัพท์เพื่อความรู้ของผู้ไม่รู้คำบาลี :
สยามเทวาธิราชา จ
อันว่าพระสยามเทวาธิราช ด้วย
วายุเทโว จ
อันว่าพระวายุเทพ (พระพาย) ด้วย
วรุณเทโว จ
อันว่าพระวรุณเทพ ด้วย
เทยฺยรฏฺฐํ อนุรกฺขนฺตุ
อนุรกฺขนฺตุ จงตามรักษา เทยฺยรฏฺฐํ ซึ่งแว่นแคว้นไทย
อาธุลีเยน
โดยความไม่มีฝุ่นธุลี
สัพพาฑฺฒติยธุลี
อฑฺฒติยธุลี อันว่าฝุ่นธุลีที่สามทั้งกึ่งทั้งหลาย สัพพา ทั้งปวง
วิวชฺชนฺตุ จงบำราศไป (จงหลีกเลี่ยงไป)
สัพพาฑฺฒติยธุลี
อฑฺฒติยธุลี อันว่าฝุ่นธุลีที่สามทั้งกึ่งทั้งหลาย สัพพา ทั้งปวง
วินสฺสนฺตุ จงพินาศไป (จงเสื่อมสูญไป)
มา เม ภวตฺวนฺตราโย
อนฺตราโย อันว่าอันตราย มา ภวตุ จงอย่ามี เม แก่ข้าพเจ้า
สุขี ทีฆายุโก โหมิ
(อหํ อันว่าข้าพเจ้า) สุขี เป็นผู้มีความสุข ทีฆายุโก เป็นผู้มีอายุยืน โหมิ จงเป็น
ขยายความ :
คำว่า “ฝุ่นธุลีที่สามทั้งกึ่ง” (แปลจากคำว่า อฑฺฒติยธุลี) เป็นสำนวนการนับแบบบาลีวิธีหนึ่ง
คำว่า “ทั้งกึ่ง” หมายถึง ครึ่งหนึ่งของจำนวนเต็ม ที่กำลังกล่าวถึง เช่นกล่าวถึงจำนวน 100 คือครึ่งของ 100 = 50 กล่าวถึงจำนวน 1,000 คือครึ่งของ 1,000 = 500
คำว่า “ที่สามทั้งกึ่ง” หมายความว่า กำลังกล่าวถึงจำนวนเต็ม คือ “สาม” ซึ่งอาจจะเป็น 300 หรือ 3,000 ก็ได้ (ตามปกติจะมีคำว่า “สต” (100) หรือ “สหสฺส” (1,000) ปรากฏบ่งชี้อยู่ในข้อความนั้นๆ ด้วย แต่ในคาถาฯ นี้ไม่มีปรากฏ)
คำว่า “ที่สามทั้งกึ่ง” ตามความเข้าใจทั่วไป ควรจะหมายความว่า
– 300 + อีกกึ่งหนึ่งของ 100 คือ 50 : 300 + 50 = 350
– หรือ 3,000 + อีกกึ่งหนึ่งของ 1,000 คือ 500 : 3,000 + 500 = 3,500
แต่สำนวนการนับแบบบาลีที่กำลังพูดถึงอยู่นี้จะตรงกันข้าม กล่าวคือ “ที่สามทั้งกึ่ง” หมายความว่า จะเป็น “สาม” ได้ต้องมี “อีกกึ่งหนึ่ง” เข้ามารวม แต่ในที่นี้ไม่มี “กึ่งหนึ่ง” ที่ว่านั่น คือเท่ากับพูดว่า “ที่สาม (ถ้ามีอีก) ทั้งกึ่ง” หรือ “ขาดอีกกึ่งหนึ่งก็จะเต็มสาม” นั่นเอง
เทียบกับเราถามเพื่อนว่า “มีเงินติดตัวมาเท่าไร” เพื่อนตอบว่า “ขาดอีกครึ่งร้อยก็จะมี 300” ก็คือเพื่อนตอบว่า “มี 250” นั่นเอง
โดยนัยนี้ คำว่า “ที่สามทั้งกึ่ง” จึงหมายความว่า
– กึ่งหนึ่งของ 100 คือ 50 + ??? = 300 : 50 + 250 = 300 ดังนั้น “250” จึงเรียกว่า “ที่สามทั้งกึ่ง”
– หรือกึ่งหนึ่งของ 1,000 คือ 500 + ???? = 3,000 : 500 + 2,500 = 3,000 ดังนั้น “2,500” จึงเรียกว่า “ที่สามทั้งกึ่ง”
สรุปว่า คำว่า “ฝุ่นธุลีที่สามทั้งกึ่ง” ก็คือ ฝุ่นธุลี 2.5 (ซึ่งจะเป็น 250 หรือ 2,500 หรือ 25,000 ฯลฯ ก็แล้วแต่จะหมายถึงจำนวนไหน)
อภิปราย :
(๑) คำว่า “สยามเทวาธิราชา” ใช้ตามคำไทยที่ว่า “พระสยามเทวาธิราช”
คำว่า “สยาม” ภาษาไทยสะกดอย่างนี้ แต่ในภาษาบาลี คำว่า “สยาม” ท่านสะกดเป็น “สฺยาม” มีจุดใต้ สฺ (ดูภาพประกอบ โดยเฉพาะที่มีคำว่า “สฺยามรฏฺฐสฺส”)
ท่านผู้แต่งอาจเผลอไป หรือไม่เผลอ คือต้นฉบับเดิมมีจุดใต้ สฺ แต่คนที่เอามาพิมพ์ทำต้นฉบับตามภาพไม่ทันได้สังเกตว่า “สฺยาม” จะต้องมีจุดใต้ สฺ จึงพิมพ์ไปตามที่เคยเห็นในภาษาไทย
(๒) คำว่า “จ” บาลีอ่านว่า จะ แปลโดยพยัญชนะว่า “-ด้วย” แปลโดยอรรถว่า “และ” ตรงกับคำอังกฤษว่า and
หลักพื้นฐานของการใช้ “จ” ก็คือ เป็นส่วนควบของคำไหน ต้องเขียนควบไว้กับคำนั้น
ในคาถาฯ นี้ คำที่มี “จ” ควบมี 3 คำ คือ –
(1) สยามเทวาธิราชา จ (อันว่าพระสยามเทวาธิราช ด้วย)
(2) วายุเทโว จ (อันว่าพระวายุเทพ (พระพาย) ด้วย)
(3) วรุณเทโว จ (อันว่าพระวรุณเทพ ด้วย)
โปรดดูข้อความในภาพ จะเห็นว่า คำว่า “วายุเทโว” อยู่บรรทัดบน “จ” ที่เป็นส่วนควบอยู่บรรทัดล่าง ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเนื้อที่บรรทัดบนไม่พอ (โปรดสังเกตความยาวของบรรทัดบน เทียบกับบรรทัดที่ 3 และที่ 5) แต่เกิดจากการที่คนพิมพ์ต้นฉบับไม่มีความรู้ภาษาบาลี และคนตรวจต้นฉบับก็ขาดความรอบคอบ
(๓) “สัพพาฑฺฒติยธุลี” (อันว่าฝุ่นธุลีที่สามทั้งกึ่งทั้งหลาย ทั้งปวง) โปรดสังเกตว่า คาถาฯ นี้มีเจตนาจะเขียนแบบบาลี หรือที่เรียกกันว่า แบบมีจุดล่างจุดบน คำอื่นๆ ก็สะกดแบบบาลี
แต่พอมาถึงคำว่า “สัพพาฑฺฒติยธุลี” (มี 2 แห่ง) ซึ่งแยกศัพท์เป็น สัพพา + อฑฺฒติยธุลี คำว่า “สัพพา” กลับสะกดแบบคำอ่าน หรือที่เรียกกันว่าแบบมีไม้หันอากาศมีสระอะ นี่ก็เกิดจากความพลั้งเผลอของคนพิมพ์ต้นฉบับ หรือคนแต่งอาจจะเผลอมาจากต้นทางด้วยก็เป็นได้
“สัพพา” เขียนแบบบาลีเป็น “สพฺพา” อ่านว่า สับ-พา
(๔) คำว่า “ทีฆายุโก” บอกเจตนาให้รู้ว่า ผู้ที่จะสวดท่องคาถาฯ นี้ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น เพราะ “ทีฆายุโก” เป็นรูปคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ปุงลิงค์” คือคำที่เป็นเพศชายหรือใช้หมายถึงเพศชาย
เรื่อง “ลิงค์” คือเพศของคำนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญของภาษาบาลี ถึงกับมีคำกล่าวที่จำกันมาว่า
เรียนวินัย ต้องแม่นสังฆกรรม
เรียนอภิธรรม ต้องแม่นวิถี
เรียนบาลี ต้องแม่นลิงค์
ในกรณีที่ต้องการให้สวดท่องได้ทั่วไป วิธีที่นิยมใช้ก็คือมีหมายเหตุบอกไว้ว่า ผู้หญิงสวด เปลี่ยน “ทีฆายุโก” เป็น “ทีฆายุกา” และมีคำใดอีกที่ต้องเปลี่ยนลิงค์ไปตามเพศของผู้สวด ก็บอกไว้ทุกคำ
(๕) ยังมีคำที่น่าสนใจ คือคำว่า “อาธุลีเยน” ขอยกไปเขียนเป็นบาลีวันละคำเป็นต่างหากอีกคำหนึ่ง
มีข้อที่น่าสังเกตเป็นพิเศษอย่างยิ่งคือ คาถาฯ นี้กล่าวเชิญเทพทั้งหลายมารักษาประเทศไทย แต่ไม่ได้เอ่ยถึง “พระรัตนตรัย” ด้วยเลย
ผู้แต่งจะมีเหตุผลหรือข้อจำกัดเป็นประการใดก็ตาม ทำให้นึกถึงพุทธภาษิตในคัมภีร์พระธรรมบท ขออัญเชิญมาเป็นอนุสติในที่นี้ ดังต่อไปนี้
…………..
พหุํ เว สรณํ ยนฺติ
ปพฺพตานิ วนานิ จ
อารามรุกฺขเจตฺยานิ
มนุสฺสา ภยตชุชิตา.
คนเป็นจำนวนมาก เมื่อภัยมาถึงตัว
พากันยึดเอาสิ่งต่างๆ เป็นที่พึ่ง
อาทิ ภูเขา ป่าไม้ สวน
ต้นไม้ และเจดีย์
Many men in their fear
Betake themselves for a refuge
To hills, woods, gardens
Sacred trees and shrines.
เนตํ โข สรณํ เขมํ
เนตํ สรณมุตฺตมํ
เนตํ สรณมาคมฺม
สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ.
นั่นมิใช่ที่พึ่งอันปลอดภัย
นั่นมิใช่ที่พึ่งอันสูงสุด
อาศัยที่พึ่งชนิดนั้น
ก็ไม่พ้นทุกข์ทั้งปวงได้
Such a refuge is not secure,
Such a refuge is not supreme.
To such a refuge shoulf one go,
One is not released from all sorrow.
โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ
สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
จตฺตาริ อริยสจฺจานิ
สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ.
ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ
ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ
อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ
ทุกฺขูปสมคามินํ.
ผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ย่อมเห็นอริยสัจด้วยปัญญาอันชอบ
คือ ทุกข์, เหตุของทุกข์, ความดับทุกข์ และ
อริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นทางดับทุกข์
He who takes refuge in
The Buddha, the Dharma and the Sangha
Sees with wisdom the Four Noble Truths:
Suffering,
The Cause of Suffering,
The Cessation of Suffering,
The Noble Eightfold Path leading to
The Cessation of Suffering.
เอตํ โข สรณํ เขมํ
เอตํ สรณมุตฺตมํ
เอตํ สรณมาคมฺม
สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ.
นั่นแลคือที่พึ่งอันปลอดภัย
นั่นคือที่พึ่งอันสูงสุด
คนเราอาศัยที่พึ่งชนิดนั้น
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
Such indeed is a refuge secure,
Such indeed is a refuge supreme.
To such a refuge should one go,
One is released from all sorrow.
ที่มา:
– พุทธวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 24 หน้า 40-41
– คำแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากหนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คาถาขลัง ขอบคุณเทวดา
: คนแต่งคาถาไม่มีใครเหลียวมอง
: เพลงดัง ชื่นชมนักร้อง
: คนแต่งเนื้อแต่งทำนองได้แต่นั่งมองขวดน้ำปลา
#บาลีวันละคำ (2,410)
17-1-62