บาลีวันละคำ

ข้าวสาร (บาลีวันละคำ 3,851)

ข้าวสาร

คือข้าวสาลีตัวจริง

อ่านว่า ข้าว-สาน ประกอบด้วยคำว่า ข้าว + สาร

(๑) “ข้าว”

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ข้าว : (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Gramineae โดยเฉพาะชนิด Oryza sativa L. เมล็ดเป็นอาหารหลัก มีหลายพันธุ์ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว.”

(๒) “สาร”

รูปคำเป็นบาลี อ่านว่า สา-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = ขยาย, พิสดาร) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ส-(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)

: สรฺ + ณ = สรณ > สร > สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายออก”

(2) สา (ธาตุ = มีกำลัง, สามารถ) + ร ปัจจัย

: สา + ร = สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีกำลัง”

“สาร” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง (essential, most excellent, strong)

(2) ชั้นในที่สุด และส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้ (the innermost, hardest part of anything, the heart or pith of a tree)

(3) แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด (substance, essence, choicest part)

(4) คุณค่า (value)

ข้าว + สาร = ข้าวสาร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ข้าวสาร ๑ : (คำนาม) ข้าวเปลือกที่สีซ้อมจนเหลือแต่เมล็ดขาว.”

อภิปรายขยายความ :

ถามว่า ถ้า “สาร” มาจากคำบาลี ข้าวที่ภาษาไทยเรียกว่า “ข้าวสาร” นั้น จะหมายถึงข้าวอะไร คือ “สาร” ในคำนี้หมายถึง “สาร” ไหนในบาลี?

มักอธิบายกันว่า “สาร” คำนี้แปลว่า “แก่น” “ข้าวสาร” ก็คือ “ข้าวที่มีแก่น” หมายถึงข้าวที่เอาเปลือกออกแล้ว เหลือแต่แก่นคือเนื้อข้าว

ภาษาบาลีมีคำว่า “สาลิ” (เป็น “สาลี” -ลี สระอี ก็มี) ถ้าแปลทับศัพท์ก็แปลว่า “ข้าวสาลี” พจนานุกรมทุกฉบับบอกความหมายตรงกัน คือข้าวที่คำอังกฤษเรียกว่า rice (ไม่ใช่ wheat)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล rice (ไรซ) ว่า “ข้าวเจ้าที่สีแล้ว”

โปรดเทียบกับคำนิยาม “ข้าวสาร” ในพจนานุกรมฯ ที่อ้างข้างต้นว่า “ข้าวเปลือกที่สีซ้อมจนเหลือแต่เมล็ดขาว” จะเห็นได้ว่าเป็นความหมายเดียวกับ “ข้าวเจ้าที่สีแล้ว” นั่นเอง

สาลิ > rice > ข้าวเจ้าที่สีแล้ว > ข้าวเปลือกที่สีซ้อมจนเหลือแต่เมล็ดขาว > ข้าวสาร

ข้าวสาร > ข้าวเปลือกที่สีซ้อมจนเหลือแต่เมล็ดขาว > ข้าวเจ้าที่สีแล้ว > rice > สาลิ

จะเห็นได้ว่า “สาลิ” ไปสุดปลายทางที่ “ข้าวสาร”

และ “ข้าวสาร” ก็วนกลับมาถึงต้นทางที่ “สาลิ”

เพราะฉะนั้น:-

(1) “ข้าวสาร” ก็คือ “สาลิ”

(2) “สาลิ” ก็คือ rice

(3) rice ก็คือ “ข้าวเจ้าที่สีแล้ว”

(4) “ข้าวเจ้าที่สีแล้ว” ก็คือ “ข้าวเปลือกที่สีซ้อมจนเหลือแต่เมล็ดขาว”

(5) “ข้าวเปลือกที่สีซ้อมจนเหลือแต่เมล็ดขาว” ก็คือ “ข้าวสาร”

(6) “ข้าวสาร” ก็คือ “สาลิ”

กล่าวรวบรัด (1) “สาลิ” คือ rice (2) rice คือ “ข้าวเจ้าที่สีแล้ว” (3) “ข้าวเจ้าที่สีแล้ว” คือ “ข้าวสาร” (4) “ข้าวสาร” ก็คือ “สาลิ”

ถ้าเป็นดังว่านี้ คำว่า “สาร” ก็เพี้ยนมาจาก “สาลิ” นั่นเอง

ในภาษาบาลี ร เรือ เพี้ยนเป็น ล ลิง ย่อมเป็นไปได้ เช่น “พราหมณ์มหาศาล” เพี้ยนมาจาก “พราหมณ์มหาสาร” แปลว่า “พราหมณ์ผู้มีทรัพย์อันเป็นสาระมาก” (ดู สัทธัมมปกาสินี ภาค 2 อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค หน้า 247)

ในทางกลับกัน ล ลิง ก็ย่อมจะเพี้ยนเป็น ร เรือ ได้เช่นกัน

: ข้าวสาลิ > ข้าวสาริ > ข้าวสาร

ขณะเขียนคำนี้ ยังหาตัวอย่างคำอื่นไม่พบ เพราะฉะนั้น ก็คงต้องยอมให้ถูกกล่าวหาว่า “ลากเข้าวัด” ไปก่อน จนกว่าจะหาหลักฐานมาช่วยสนับสนุนได้

นักเรียนบาลีท่านใดจะมีแก่ใจช่วยหา ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

แต่ยืนยันได้ว่า “ข้าวสาร” คือ “สาลิ” (rice) นั้น เป็นอันไม่ผิดแน่

และ “ข้าวสาร” นี่แลคือ “ข้าวสาลี” ตัวจริง!

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร ไม่ยาก

: ทำคนพาลให้เป็นบัณฑิต แสนยาก

#บาลีวันละคำ (3,851)

28-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *