บาลีวันละคำ

ครหา – นินทา (บาลีวันละคำ 2408)

ครหานินทา

วัจนกีฬาประจำโลก

ครหา” อ่านว่า คะ-ระ-หา ก็ได้ คอ-ระ-หา ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

นินทา” อ่านว่า นิน-ทา

(๑) “ครหา

บาลีเป็น “ครหา” อ่านว่า คะ-ระ-หา (บาลีไม่อ่านว่า คอ-ระ-หา) รากศัพท์มาจาก ครหฺ (ธาตุ = ตำหนิ, ติเตียน) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ครหฺ + = ครห + อา = ครหา แปลตามศัพท์ว่า “การตำหนิ” หมายถึง การนินทา, การตำหนิ, การหาความ, การติเตียน, ความผิด, ความเสียชื่อ (blame, reproach, fault-finding, fault, disgrace)

เพื่อความเข้าใจกว้างขึ้น ควรรู้เพิ่มเติมว่า “ครหา” คำกริยาในบาลี (ปัจจุบันกาล เอกพจน์ ปฐมบุรุษ หรือบุรุษที่หนึ่ง = สิ่งหรือผู้ที่ถูกพูดถึง) เป็น “ครหติ” (คะ-ระ-หะ-ติ) แปลว่า ติเตียน, กล่าวโทษ, ดุด่า, ตำหนิ (to reproach, to blame, scold, censure, find fault with)

บาลี “ครหา” สันสกฤตเป็น “ครฺหา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ครฺหา : (คำนาม) ครหา, นินทา; censure, reproach, abuse.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ครหา : (คำกริยา) ติเตียน, ติโทษ. (ป., ส. คฺรหา).”

(๒) “นินทา

บาลีเป็น “นินฺทา” (มีจุดใต้ นฺ) อ่านว่า นินฺ-ทา รากศัพท์มาจาก นิทิ (ธาตุ = ติเตียน) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมกลางธาตุแล้วแปลงนิคหิต เป็น (นิทิ > นึทิ > นินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือลบ อิ ที่ (นิ)-ทิ (นิทิ > นิท) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: นิทิ > นึทิ > นินฺทิ > นินฺท + = นินฺท + อา = นินฺทา แปลตามศัพท์ว่า “การติเตียน” หมายถึง การนินทา, การตำหนิ, การหาความ, การติเตียน, ความผิด, ความเสียชื่อ (blame, reproach, fault-finding, fault, disgrace)

เพื่อความเข้าใจกว้างขึ้น ควรรู้เพิ่มเติมว่า “นินฺทา” คำกริยา (ปัจจุบันกาล เอกพจน์ ปฐมบุรุษ หรือบุรุษที่หนึ่ง = สิ่งหรือผู้ที่ถูกพูดถึง) เป็น “นินฺทติ” (นิน-ทะ-ติ) แปลว่า นินทา, หาเรื่อง, ติเตียน, ตำหนิ (to blame, find fault with, censure)

บาลี “นินฺทา” สันสกฤตก็เป็น “นินฺทา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

นินฺทา: (คำนาม) ‘นินทา,’ ครหา, การหาเรื่อง; บีฑา, การเบียดเบียน; ความชั่ว; censure, reproach; injury, injuring; wickedness.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นินทา : (คำนาม) คําติเตียนลับหลัง. (คำกริยา) ติเตียนลับหลัง. (ป., ส. นินฺทา ว่า การติเตียน).”

อภิปราย :

โปรดสังเกตว่า ในภาษาไทย ดูเหมือนพจนานุกรมฯ จะแยกความแตกต่างระหว่าง “ครหา” กับ “นินทา” ว่า “ครหา” คือติเตียนทั่วๆ ไป “นินทา” คือติเตียนลับหลัง ประหนึ่งจะให้เข้าใจว่า ถ้าติเตียนต่อหน้า ไม่เรียกว่า “นินทา

แต่ในภาษาบาลี ไม่ว่าจะติเตียนต่อหน้าหรือลับหลัง ก็เรียกว่า “ครหา” หรือ “นินทา” ได้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจทั่วไป “ครหา” กับ “นินทา” มีความหมายคล้ายกัน เราจึงมักพูดควบกันว่า “ครหานินทา

…………..

ในพระไตรปิฎก มีพุทธภาษิตตรัสเรื่อง “ครหานินทา” ไว้บทหนึ่ง ดังนี้ –

คำบาลี:

โปราณเมตํ อตุล

เนตํ อชฺชตนามิว

นินฺทนฺติ ตุณฺหิมาสีนํ

นินฺทนฺติ พหุภาณินํ

มิตภาณิมฺปิ นินฺทนฺติ

นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต.

คำอ่าน:

โปราณะเมตัง อะตุละ

เนตัง อัชชะตะนามิวะ

นินทันติ ตุณหิมาสีนัง

นินทันติ พะหุภาณินัง

มิตะภาณิมปิ นินทันติ

นัตถิ โลเก อะนินทิโต.

คำแปล:

อตุลเอย เรื่องอย่างนี้มีมานานแล้ว

มิใช่เพิ่งจะมีในปัจจุบันนี้

อยู่เฉยๆ เขาก็นินทา

พูดมาก เขาก็นินทา

พูดน้อย เขาก็นินทา

ไม่มีใครในโลก ที่ไม่ถูกนินทา

Not only today, O Atula,

From days of old has this been so;

Sitting silent-him they blame,

Speaking too much-him they blame,

Talking little-him they blame,

There is no one in the world who is not blamed.

ที่มา:

– โกธวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 27 หน้า 45

– คำแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากหนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก

หมายเหตุ : “อตุล” ในพุทธภาษิตนี้ เป็นชื่อของอุบาสกคนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสภาษิตบทนี้ให้ฟัง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีใครตำหนิ อย่าเพิ่งดีใจ

: เพราะเขาอาจรู้นิสัย ว่าเราเป็นคน–

ไม่ยอมรับความบกพร่องของตัวเอง

#บาลีวันละคำ (2,408)

15-1-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *