วิบากกรรม – กรรมวิบาก (บาลีวันละคำ 901)
วิบากกรรม – กรรมวิบาก
วิบากกรรม อ่านว่า วิ-บาก-กำ
กรรมวิบาก อ่านว่า กำ-มะ-วิบาก
ประกอบด้วยคำว่า วิบาก + กรรม
(๑) “วิบาก” บาลีเป็น “วิปาก” (วิ-ปา-กะ) รากศัพท์มาจาก วิ (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปจฺ (ธาตุ = หุง, ต้ม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อ ที่ ป– เป็น อา, แปลง จฺ เป็น ก
: วิ + ปจฺ + ณ = วิปจ > วิปาจ > วิปาก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถูกหุงต้มจนสุกอย่างพิเศษ” หรือ “สิ่งที่สุกแล้วอย่างไม่เหลือ” = ไม่มีส่วนที่ยังดิบเหลืออยู่ หมายถึง ผล, การสำเร็จผล, ผลิตผล, ผลที่เกิดจากเหตุ หรือผลของกรรม (fruit, fruition, product, result, effect, consequence)
“วิปาก” ภาษาไทยใช้ว่า “วิบาก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิบาก : (คำนาม) ผล, ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วอันทําไว้แต่อดีต, เช่น กุศลวิบาก กรรมวิบาก.ว. ลำบาก เช่น ทางวิบาก วิ่งวิบาก. (ป., ส. วิปาก).”
(๒) “กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์คือ (1) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ : กรฺ > ก- (2) ลบ ร ที่ปัจจัย : รมฺม > -มฺม
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ”
บาลี “กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
กรรม มีความหมายแยกย่อยไปอีกหลายอย่าง (ดูเพิ่มเติมที่ “กรรม” บาลีวันละคำ (480) 7-9-56)
ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม
วิบาก + กรรม หรือ กรรม + วิบาก ?
ในภาษาบาลีมีศัพท์ว่า “กมฺมวิปาก” (กำ-มะ-วิ-ปา-กะ) = กมฺม + วิปาก ภาษาไทยใช้ว่า “กรรมวิบาก” แปลว่า “ผลของกรรม” แต่คำนี้นิยมใช้เป็นภาษาเขียนมากกว่าพูด เวลาพูดมักใช้ว่า “วิบากกรรม” ในความหมายว่า ผลของกรรม
“วิบากกรรม” เทียบบาลีเป็น “วิปากกมฺม” (วิ-ปา-กะ-กำ-มะ) = วิปาก + กมฺม ในบาลีไม่มีคำที่ประสมรูปแบบนี้และหมายถึง “ผลของกรรม” แม้จะมีศัพท์เช่นนี้ แต่ก็แปลว่า “กรรมคือวิบาก” หรือ “กรรมคือผล” ไม่ได้แปลว่า “ผลของกรรม”
“วิบากกรรม” จึงเป็นบาลีแบบไทย
ข้อสังเกต :
(1) ในภาษาไทย มักเข้าใจกันว่า “วิบาก” คือลำบาก เช่น ทางวิบาก วิ่งวิบาก หรือเมื่อทำอะไรแล้วไม่ราบรื่น ต้องประสบกับความทุกข์ยาก เดือดร้อน ก็จะพูดว่าเป็น “วิบากกรรม” และหมายถึงเป็นผลของกรรมชั่ว
(2) “วิบาก” ความหมายเดิม ไม่ได้แปลว่า “ลำบาก” แต่หมายถึง “ผลที่เกิดขึ้น” และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นผลร้าย แม้ผลดี ก็เรียกว่า “วิบาก” เหมือนกัน
(3) กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)
(4) กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น และไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะมีใครเชื่อเช่นนั้น
(5) หน้าที่ของเรา คือ ทำความเข้าใจให้ตรงกับความจริง ไม่ใช่เกณฑ์ความจริงให้ตรงกับที่เราเข้าใจ
: ผลมาจากเหตุ ไม่ใช่ผู้วิเศษบันดาล
#บาลีวันละคำ (901)
5-11-57