ขันติ (บาลีวันละคำ 911)
ขันติ
หญ้าปากคอกที่เคี้ยวไม่ง่าย
“ขันติ” แปลกันว่า ความอดทน
บาลีเขียน “ขนฺติ” อ่านว่า ขัน-ติ รากศัพท์มาจาก ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น นฺติ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: ขมฺ > ข + ติ > นฺติ : ข + นฺติ = ขนฺติ
หรือจะว่า –
: ขมฺ + ติ แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ : ขมฺ > ขนฺ + ติ = ขนฺติ ก็ได้
“ขนฺติ” แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่อดทนได้” หมายถึง ความอดทน, ความอดกลั้น, การให้อภัย (patience, forbearance, forgiveness)
ในทางวิชาการ ท่านว่าคุณธรรมเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของ ขันติ กล่าวคือ :
(1) เมตฺตา = ความรัก (love)
(2) ตีติกฺขา = ความอดกลั้น (forbearance)
(3) อวิหึสา = ความไม่เบียดเบียน (tolerance)
(4) อกฺโกธ = ความไม่โกรธ (meekness)
(5) โสรจฺจ = ความสงบเสงี่ยม, ความว่านอนสอนง่าย (docility, tractableness)
(6) มทฺทว = ความสุภาพอ่อนโยน (gentleness)
ในทางปฏิบัติ พึงพิจารณาว่าตนเองมีขันติหรือไม่ ตามนัยแห่งอรรถกถาขันติวาทิชาดก ดังนี้ :
กา เอสา ขนฺติ นามาติ.
พระราชาตรัสถาม: ที่ชื่อว่าขันตินั้นคืออะไร ?
อกฺโกสนฺเตสุ ปหรนฺเตสุ ปริภวนฺเตสุ อกุชฺฌนภาโวติ.
ขันติวาทีดาบสทูลตอบ: คือความไม่โกรธในเมื่อเขาด่าอยู่ ทำร้ายอยู่ เย้ยหยันอยู่
มม สทิสา ขนฺติพเลน สมนฺนาคตา ปณฺฑิตา
อยํ มํ อกฺโกสิ ปริภาสิ ปริภวิ ปหริ ฉินฺทิ ภินฺทีติ
น กุชฺฌนฺตีติ.
บัณฑิตทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งขันติเช่นกับอาตมา
ย่อมไม่โกรธว่า ผู้นี้ด่า บริภาษ เย้ยหยัน ทำร้ายเรา ตัดอวัยวะ ทำลายเรา
………….
ขันติ :
มิใช่เพียงแค่รู้
แต่ต้องทำได้จริง
—————-
(ตามความอยากรู้ของ รู้ธรรม รู้ตัวเรา เข้าใจชีวิต)
#บาลีวันละคำ (911)
15-11-57