เจ็ดตำนาน (บาลีวันละคำ 912)
เจ็ดตำนาน
“เจ็ดตำนาน” คือบทสวดมนต์เจ็ดบท หรือ “เจ็ดเรื่อง” คือ พระปริตรที่มีอำนาจคุ้มครองป้องกันตามเรื่องต้นเดิมที่เล่าไว้ว่าแต่ละบทมีต้นกำเนิดมาอย่างไรและมีอานุภาพเป็นเช่นไร ซึ่งได้จัดรวมเป็นชุด รวม 7 พระปริตร
“เจ็ดตำนาน” เรียกอีกนัยหนึ่งว่า “เจ็ดปริตร” ใช้คำบาลีเป็น “สัตตปริตต์” (สัด-ตะ-ปะ-ริด)
“สัตต” บาลีเขียน “สตฺต” แปลว่า เจ็ด (จำนวน 7)
“ปริตต์” บาลีเขียน “ปริตฺต” (ปะ-ริด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ป้องกันภัยเป็นต้นให้แก่สัตว์รอบด้าน” หมายถึง การป้องกัน, การรักษาให้ปลอดภัย; ของขลังสำหรับป้องกันตัว, ของที่ช่วยบรรเทา, เครื่องราง (protection, safeguard; (protective) charm, palliative, amulet)
สตฺต + ปริตฺต = สตฺตปริตฺต > สัตตปริตต์ > สัตตปริตร (ปริตร ในภาษาไทย พจน.กำหนดให้อ่านว่า ปะ-หฺริด) แปลว่า “เจ็ดปริตร”
“ปริตฺต” คือเครื่องคุ้มครองป้องกันนี้ มีคำบาลีที่เป็นไวพจน์ว่า รกฺขา ตาณ เลณ ทีป นาถ สรณ เป็นต้น (ทุกคำมีความหมายทำนองเดียวกัน คือที่พึ่ง ที่ป้องกัน) โดยเฉพาะ “ตาณ” (ตา-นะ) นั้น บางทีใช้อธิบายหรือใช้แทน “ปริตฺต” อย่างชัดเจน
สตฺตปริตฺต (สัตตปริตต์, สัตตปริตร) จึงมีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สตฺตตาณ” (สัด-ตะ-ตา-นะ)
“ตาณ” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่ปกป้องรักษาให้พ้นจากอบายเป็นต้น” หมายถึง ที่พึ่งพิง, ที่กำบัง, การป้องกัน, ที่พึ่ง (shelter, protection, refuge)
ผู้รู้สันนิษฐานกันว่า “ตำนาน” ในคำว่า “เจ็ดตำนาน” นี้ แผลงมาจาก “ตาณ” นี่เอง
: ตาณ (อ่านว่า ตาน) > ตำนาณ แล้วเขียนตามเสียงอ่านเป็น “ตำนาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตำนาน : (คำนาม) เรื่องแสดงกิจการอันมีมาแล้วแต่ปางหลัง, เรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบ ๆ มา, เช่น ตํานานพุทธเจดีย์สยาม; เรียกพระปริตรบทหนึ่ง ๆ ว่า ตํานาน ในคําว่า เจ็ดตํานาน สิบสองตํานาน.”
เจ็ดตำนาน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จุลราชปริตร” (จุน-ละ-ราด-ชะ-ปะ-หฺริด) แปลว่า ปริตรหลวงชุดเล็ก ตามตำราว่าประกอบด้วยบทสวด 7 บทดังนี้ –
(1) มงคลสูตร
(2) รตนปริตร (มักเรียก รตนสูตร)
(3) เมตตปริตร (มักเรียก กรณียเมตตสูตร)
(4) ขันธปริตร
(5) โมรปริตร
(6) ธชัคคปริตร (มักเรียก ธชัคคสูตร)
(7) อาฏานาฏิยปริตร
(บางตำราจัด โพชฌังคปริตร แทนปริตรในข้อ 4 – 7 บทใดบทหนึ่งก็มี)
ในสมัยเมื่อไม่นานมานี้ ถ้าเอ่ยชื่อ “เจ็ดตำนาน” จะเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นหนังสือสวดมนต์ที่รวมบทสวดทั้ง 7 ไว้ครบ และยังมีบทสวดมนต์อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้ท่องบ่นเสมือนเป็นหนังสือคู่มือของพระภิกษุสามเณร ทำนองเดียวกับหนังสือ “มนต์พิธี” ที่รู้จักกันในเวลานี้
ชื่อที่คู่กันกับ “เจ็ดตำนาน” ก็คือ “สิบสองตำนาน”
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ในหัวข้อ “ปริตร”)
: กี่ตำนานก็ไม่ขลัง ถ้าได้แต่สวดให้กันฟัง แต่ไม่ปฏิบัติตาม
#บาลีวันละคำ (912)
16-11-57