มาลา-มาลัย (บาลีวันละคำ 910)
มาลา-มาลัย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) มาลา : (คำนาม) ดอกไม้, ดอกไม้ที่จัดแต่งขึ้นตามโครงรูปต่าง ๆ เช่น วงกลม วงรี มักมีใบไม้เป็นส่วนประกอบด้วย สำหรับวางที่อนุสาวรีย์ พระบรมรูป หรือศพ เป็นต้น เพื่อเป็นเกียรติหรือแสดงความเคารพ เรียกว่า พวงมาลา; หมวก (ราชาศัพท์ใช้ว่า พระมาลา); สร้อยคอ; สาย, แถว. (ป., ส.).
(2) มาลัย : (คำนาม) ดอกไม้ประดิษฐ์แบบไทยลักษณะหนึ่ง โดยการนำดอกไม้ กลีบดอกไม้ และใบไม้ มาร้อยด้วยเข็มแล้วรูดออกมาใส่ด้ายผูกเป็นพวง มีลักษณะต่าง ๆ กัน, พวงมาลัย ก็เรียก. (เทียบทมิฬ มาไล).
“มาลา” รากศัพท์มาจาก –
(1) มา (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + อล ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์
: มา + อล = มาล + อา = มาลา แปลว่า “สิ่งอันคนทะนุถนอม”
(2) มาลฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อล ปัจจัย, ลบ ล + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์
: มาลฺ + อล = มาล + อา = มาลา แปลว่า “สิ่งอันคนคล้อง”
(3) มา (ภมร, ผึ้ง) + ลสฺ (ธาตุ = ยินดี, รื่นรมย์) + กฺวิ ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์, ลบ กฺวิ และ ส
: มา + ลสฺ > ล = มาล + กฺวิ = มาล + อา = มาลา แปลว่า “เป็นที่ยินดีแห่งหมู่ภมร”
นอกจาก “มาลา” บาลียังมีรูปคำ “มาลฺย” (ลฺ เป็นตัวสะกดและออกเสียงครึ่งเสียง อ่านว่า มาน-เลียะ จะได้เสียงที่ตรงที่สุด) ซึ่งเกิดจาก มาลา + ณฺย ปัจจัย, ลบ อา ที่ –ลา และลบ ณฺ
: มาลา > มาล + ณฺย > ย = มาลฺย แปลเช่นเดียวกับ มาลา คือ ดอกไม้, พวงมาลัย (flower, garland of flowers)
“มาลฺย” เขียนแบบไทยเป็น มาลย อ่านว่า มา-ละ-ยะ แล้วกลายเสียงและรูปเป็น “มาลัย” (มา-ไล)
พจน.54 บอกไว้ว่า มาลัย เทียบทมิฬ มาไล
แต่ มาลัย เทียบบาลี มาลฺย น่าจะใกล้กว่า
: มาลา > มาลฺย > มาลย > มาลัย
คำว่า มาลา – มาลฺย นักเรียนบาลีมักแปลว่า “ระเบียบ” หมายถึงดอกไม้ที่นำมาร้อยให้เป็นระเบียบ (a garland or wreath of flowers)
มาลา จึงหมายถึงระเบียบ, แนว, แถว (row, line) อีกด้วย
: ดอกไม้ที่ไร้ระเบียบ ย่อมไม่เรียกว่ามาลา ฉันใด
: การทำอะไรตามใจไร้ระเบียบ ก็ไม่เรียกว่าเสรีภาพฉันนั้น
และ –
: เสรีภาพที่ไร้ระเบียบ จะนำไปสู่ความไร้เสรีภาพในที่สุด
#บาลีวันละคำ (910)
14-11-57
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย