พิรุธ (บาลีวันละคำ 1,571)
พิรุธ
อ่านว่า พิ-รุด
บาลีเป็น “วิรุทฺธ” อ่านว่า วิ-รุด-ทะ
“วิรุทฺธ” รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + รุธฺ (ธาตุ = ขัดเคือง, ปิดกั้น, ผิด) + ต ปัจจัย, แปลง ธ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ
: วิ + รุธ = วิรุธ + ต = วิรุธต > วิรุทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาคัดค้านแล้ว” “อันผิดต่างออกไป” หมายถึง การกระทำหรืออาการกิริยาที่ไม่เป็นไปตามปรกติ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิรุทฺธ” ว่า hindered, obstructed, disturbed (ถูกขัดขวาง, กีดขวาง, รบกวน)
“วิรุทฺธ” คำนี้บาลีกับสันสกฤตมีรูปคำตรงกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “วิรุทฺธ” ในสันสกฤตไว้ละเอียด ขอคัดมาเพื่อเป็นความรู้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิรุทฺธ : (คำคุณศัพท์) ‘พิรุทธ,’ อันขัดกันอยู่, อันได้รับการต่อต้านหรือขัดขวาง; อันกลับ, อันตรงกันข้าม; อันขัดข้องกันในเหตุ; อันมีลักษณะขัดกันอยู่ (ดุจหวานกับเปรี้ยว, ฯลฯ); อันขัดกันอยู่หรือไม่ลงเอยกันได้; วิโรธิน, อันเปนประติปักษ์กันอยู่; อันต้องห้ามขาด; อันไม่ควรหรือไม่สามารถพอสรวมตำแหน่งนั้นๆ; อันตกอยู่ในที่ล้อมหรือถูกล้อมประชิด; อันผิดปรกติ; opposed, hindered; reverse, contrary or opposite; inconsistent in argument; opposed in quality (as sweet with sour, &c.); disagreeing with each other; adverse, hostile; excluded; disqualified; surrounded or blockaded; unnatural.”
“วิรุทธ” เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย แผลง วิ– เป็น พิ– ตามหลักนิยมของไทย และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง คือตัด ทฺ ออกไป (ตามหลักนิยมของไทยอีกเช่นกัน) จึงเขียนเป็น “พิรุธ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิรุธ : (คำกริยา) ผิดปรกติ, มีอาการน่าสงสัย, เช่น แสดงอาการพิรุธ ทำพิรุธ. (ป., ส. วิรุทฺธ).”
“พิรุธ” มักใช้ในเรื่องที่ผิดปกติในทางไม่ดี หรือที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ เช่นคนที่ไปทำความผิดมาแล้วพยายามปกปิด แต่ก็มักอดที่จะแสดงอาการกิริยาที่ผิดปกติเป็น “พิรุธ” ออกมาให้คนสังเกตเห็นไม่ได้
………….
: ไม่ทำผิด ไม่ทำชั่ว
: ดีกว่าคอยระวังตัวไม่ให้มีพิรุธ
22-9-59