บาลีวันละคำ

รตนสูตร (บาลีวันละคำ 914)

รตนสูตร

(ลำดับ 2 ในเจ็ดตำนาน)

รตนสูตร” อ่านว่า ระ-ตะ-นะ-สูด

คำนี้อานจเขียนเป็น “รัตนสูตร” ก็ได้ อ่านว่า รัด-ตะ-นะ-สูด

รตนสูตร” บาลีเป็น “รตนสุตฺต” ประกอบด้วย รตน + สุตฺต

(ความหมายของ “สุตฺต” ดูที่ “มงคลสูตร”)

รตน” (ระ-ตะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ขยายความยินดี” (คือเพิ่มความยินดีให้มากขึ้น) (2) “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน” (3) “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี” (4) “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น

รตน” ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง

ในภาษาไทยเขียนเป็น รัตน-, รัตน์, รัตนะ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง เช่น อิตถีรัตนะ คือ นางแก้ว หัตถิรัตนะ คือ ช้างแก้ว.

(2) คน สัตว์ หรือสิ่งของที่ถือว่าวิเศษและมีค่ามาก เช่น รัตนะ ๗ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ๑. จักรรัตนะ-จักรแก้ว ๒. หัตถิรัตนะ-ช้างแก้ว ๓. อัสสรัตนะ-ม้าแก้ว ๔. มณิรัตนะ-มณีแก้ว ๕. อิตถีรัตนะ-นางแก้ว ๖. คหปติรัตนะ-ขุนคลังแก้ว ๗. ปริณายกรัตนะ-ขุนพลแก้ว.

(3) ของประเสริฐสุด, ของยอดเยี่ยม, เช่น รัตนะ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน.

(4) ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี.

ตามแนวคิดของชาวพุทธ คำว่า “รตน” ใช้เป็นคำเปรียบสำหรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเรียกว่า “รัตนตรัย” หรือ “ไตรรัตน์” หมายถึง แก้วอันมีค่าสามดวง

ในแง่นี้นักอักษรศาสตร์เอาคำว่า “รตน” มาแยกเป็นอักษร 3 ตัว คือ ร-ต-น และให้ความหมายดังนี้ –

(1) “” มาจาก รมุ ธาตุ (รากศัพท์) = ยินดี (รมิตพฺพํ รมนฺติ เอตฺถาติ รํ = สิ่งที่ผู้คนชื่นชอบ)

: = สิ่งที่น่าพอใจ น่ายินดี นำมาซึ่งความรื่นรมย์แห่งใจ

(2) “” มาจาก ตรฺ ธาตุ = ข้าม (อตฺตานํ ภชนฺเต อุปเสวนฺเต ทุคฺคติโต สํสารมหณฺณวโต วา ตาเรตีติ ตํ = สิ่งที่ทำให้ผู้ซ่องเสพตนข้ามพ้นจากทุคติหรือห้วงมหรรณพคือสังสารวัฏได้)

: = สิ่งที่ช่วยให้ข้ามพ้นจากปัญหา

(3) “” มาจาก นี ธาตุ = นำไป (อตฺตานํ อนุสฺสรนฺเต สุคตินิพฺพานานิ เนตีติ นํ = สิ่งที่นำผู้ระลึกถึงตนบรรลุถึงสวรรค์นิพพานได้)

: = สิ่งที่นำส่งให้ถึงสวรรค์นิพพาน

+ + = รตน = สิ่งที่ผู้คนชื่นชมเพราะทำให้ผู้ปฏิบัติตามข้ามพ้นวัฏสังสารบรรลุถึงพระนิพพานได้จริง

บรรยายความ:

บทรตนสูตรเป็นบทที่ว่าด้วยคุณค่าและอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าประทานแก่ชาวเมืองเวสาลีเมื่อคราวประสบวิกฤตการณ์อันเลวร้าย

อรรถกถาเล่าว่า คราวหนึ่ง ที่เมืองเวสาลี ได้เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ ผู้คนล้มตาย ซากศพเกลื่อนเมือง พวกอมนุษย์ก็เข้ามา แถมอหิวาตกโรคซ้ำอีก ในที่สุด กษัตริย์ลิจฉวีตกลงไปอาราธนาพระพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นประทับที่เมืองราชคฤห์ (ยังอยู่ในรัชกาลของพระเจ้าพิมพิสาร) ขอให้เสด็จมา พระพุทธองค์ประทับเรือเสด็จมา เมื่อถึงเขตแดน พอย่างพระบาทลงทรงเหยียบฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาจนน้ำท่วม พัดพาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด และเมื่อเสด็จถึงเมืองเวสาลี ท้าวสักกะและประดาเทพก็มาชุมนุมรับเสด็จ เป็นเหตุให้พวกอมนุษย์หวาดกลัว พากันหนีไป

ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรตนสูตรให้พระอานนท์เรียนและเดินทำปริตรไปในระหว่างกำแพงเมืองทั้ง 3 ชั้น พระอานนท์เรียนรตนสูตรนั้นแล้วสวดเพื่อเป็นปริตร คือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน พร้อมทั้งถือบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำเดินพรมไปทั่วทั้งเมือง

เป็นอันว่า ทั้งภัยแล้ง ภัยอมนุษย์ และภัยจากโรค ก็สงบสิ้นไป

พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองเวสาลีครึ่งเดือนจึงเสด็จกลับ มีการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อส่งเสด็จ เรียกว่า “คงคาโรหณสมาคม” แปลว่า การชุมนุมในคราวเสด็จลงแม่น้ำคงคาเพื่อเสด็จกลับสู่เมืองราชคฤห์

พระสูตรนี้แสดงคุณของพระรัตนตรัย จึงเรียกว่า “รตนสูตร” (ในมิลินทปัญหาบางฉบับเรียกว่า “สุวัตถิสูตร” เพราะแต่ละคาถาลงท้ายว่า “สุวตฺถิ โหตุ” – ด้วยสัจจะนี้ ขอความสวัสดีจงมี)

เรื่องที่อรรถกถาเล่านี้ น่าจะเป็นที่มาของประเพณีการเอาน้ำใส่บาตรทำน้ำมนต์ แล้วพรมน้ำมนต์เพื่อความสุขสวัสดี

ในการเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลแต่เดิมนั้นจะสวดรตนสูตรเต็มสูตร ภายหลังเห็นว่ายาวเกินไป จึงลดลงสวดแต่เพียงบทสำคัญๆ เท่านั้น รตนสูตรนี้นิยมเรียกกันว่า “สูตรน้ำมนต์” เพราะเมื่อจะทำน้ำพุทธมนต์จะขาดบทนี้ไม่ได้ บางตำรากล่าวว่านิยมให้พระเถระผู้เป็นประธานหยอดหยดเทียนน้ำมนต์เมื่อเริ่มสวดพระสูตรนี้ และเมื่อจะดับเทียนน้ำมนต์ก็ให้ดับในท้ายสูตรนี้ด้วย (คือตรงบาทพระคาถาว่า นิพพันติ  ธีรา  ยะถายัมปะทีโปนักปราชญ์ย่อมดับสนิท เหมือนประทีปดวงนี้อันดับไปฉะนั้น) ดังนั้น ในการเจริญพระพุทธมนต์ทุกครั้งจึงขาดบทนี้ไม่ได้ เพราะเป็นบทที่กล่าวถึงคุณพระรัตนตรัย และมีประวัติความเป็นมาที่แสดงให้เห็นว่า รตนสูตรนี้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนเมื่อมีสถานการณ์ที่เลวร้ายทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

(ประมวลความจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต หัวข้อ “ปริตร” และ อธิบายบทสวดมนต์ วัดสุทัศนเทพวราราม หน้า 79-82 พระมหาสุทธิพงษ์ อภิวํโส เรียบเรียง)

ขออัญเชิญพระคาถาบางบทในรตนสูตรมาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเจริญศรัทธา:

ยังกิญจิ  วิตตัง  อิธะ  วา  หุรัง  วา

สะเคสุ  วา  ยัง  ระตะนัง  ปะณีตัง

นะ  โน  สะมัง  อัตถิ  ตะถาคะเตนะ

อิทัมปิ  พุทเธ  ระตะนัง  ปะณีตัง

เอเตนะ  สัจเจนะ  สุวัตถิ  โหตุ.

ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ หรือในโลกอื่น

หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์

ทรัพย์และรัตนะนั้นที่จะเสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย

พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันล้ำเลิศ

ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา

ขะยัง  วิราคัง  อะมะตัง  ปะณีตัง

ยะทัชฌะคา  สักยะมุนี  สะมาหิโต

นะ  เตนะ  ธัมเมนะ  สะมัตถิ  กิญจิ

อิทัมปิ  ธัมเม  ระตะนัง  ปะณีตัง

เอเตนะ  สัจเจนะ  สุวัตถิ  โหตุ.

พระศากยมุนีมีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใด

เป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สำรอกกิเลส เป็นอมฤตธรรมอันล้ำเลิศ

สิ่งไรๆ ที่จะเสมอด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มี

ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันล้ำเลิศ

ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา

เย  ปุคคะลา  อัฏฐะ  สะตัง  ปะสัฏฐา

จัตตาริ  เอตานิ  ยุคานิ  โหนติ

เต  ทักขิเณยยา  สุคะตัสสะ  สาวะกา

เอเตสุ  ทินนานิ  มะหัปผะลานิ

อิทัมปิ  สังเฆ  ระตะนัง  ปะณีตัง

เอเตนะ  สัจเจนะ  สุวัตถิ  โหตุ.

บุคคลแปดจำพวก สี่คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว

บุคคลเหล่านั้นเป็นสาวกของพระตถาคต ควรแก่ทักษิณาทาน

ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้นย่อมมีผลมาก

สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันล้ำเลิศ

ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ปวงประชา

รตน : แก้วมีค่า

: ถ้าไม่รู้คุณค่า แม้จะมีล้นฟ้าก็ป่วยการ

: ถ้ารู้คุณค่า เพียงสามดวงก็นำพาไปถึงพระนิพพาน

#บาลีวันละคำ (914)

18-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *