บาลีวันละคำ

เกตุมาลา (บาลีวันละคำ 1,654)

เกตุมาลา

คำสูง ของสูง

อ่านว่า เก-ตุ-มา-ลา ก็ได้

อ่านว่า เกด-มา-ลา ก็ได้

(ตาม พจน.54)

ประกอบด้วย เกตุ + มาลา

(๑) “เกตุ

บาลีอ่านว่า เก-ตุ รากศัพท์มาจาก –

1) กิตฺ (ธาตุ = อยู่) + อุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ กิ-(ตฺ) เป็น เอ (กิตฺ > เกต)

: กิตฺ + อุ = กิตุ > เกตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่อยู่ข้างบน” (หมายถึงธงที่ถูกชักไว้บนที่สูง)

2) (น้ำ) + อิ (ธาตุ = รู้) + ตุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ

: + อิ = กิ + ตุ = กิตุ > เกตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่ามีน้ำ” (คือธงที่ปักไว้ที่บ่อน้ำ) หรือ “ผ้าเป็นเครื่องไปสู่ท้องน้ำ” (คือธงที่เป็นเครื่องหมายการเดินเรือ)

เกตุ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) รัศมี, แสงสว่าง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง (ray, beam of light, splendour, effulgence)

(2) ธง, ธงชัย, เครื่องหมาย, เครื่องหมายแสดงความรุ่งโรจน์ (flag, banner, sign, sign as token of splendour)

บาลี “เกตุ” สันสกฤตก็เป็น “เกตุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เกตุ : (คำนาม) หางมังกร (หรือทางสว่างของนักษัตร); (คำใช้ในดาราศาสตร์) นักษัตรที่เก้า; (คำใช้ในเทพศาสตร์ หรือเทพยดาขยาน) เวตาล; ศรีระของไสนหิเกยซึ่งพระวิษณุได้ประหารบั่นเศียร (หรือราหุ) ขาดกระเด็น เมื่อกวนสมุทร์, แต่ไม่ตาย, โดยได้ลิ้มน้ำทิพย์เข้าไป; ธง, ธวัช; เครื่องหมาย, อาณัติ, บ้าย, ฯลฯ; แสงสว่าง, ดาวหาง, ดาวตก, ฯลฯ; พยาธิ, โรค; the dragon’s tail (or descending node); (in astronomy) the ninth of the planets; (in mythology) a demon; the body of Sainhikeya severed from the head (or Rāhu) by Vishṇu, at the churning of the ocean, but immortal, by having tasted the Amṛit; a banner, a flag; a mark, a sign, a symbol, &c.; light, a comet. A falling star, &c.; sickness, disease.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “เกตุ” ไว้ดังนี้ –

เกตุ, เกตุ– : (คำนาม) ธง; (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) ชื่อดาวพระเคราะห์ดวงที่ ๙ หมายถึงตําแหน่งที่ดวงจันทร์ผ่านจากเหนือระนาบสุริยวิถีลงสู่ใต้ระนาบสุริยวิถี ส่วนตําแหน่งที่ดวงจันทร์ผ่านจากใต้ระนาบสุริยวิถีขึ้นเหนือระนาบสุริยวิถี เรียกว่า พระราหู. (ป., ส.).”

(๒) “มาลา” รากศัพท์มาจาก –

(1) มา (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + อล ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: มา + อล = มาล + อา = มาลา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนทะนุถนอม

(2) มาลฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อล ปัจจัย, ลบ + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: มาลฺ + อล = มาล + อา = มาลา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนคล้อง

(3) มา (ภมร, ผึ้ง) + ลสฺ (ธาตุ = ยินดี, รื่นรมย์) + กฺวิ ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์, ลบ กฺวิ และ

: มา + ลสฺ > = มาล + กฺวิ = มาลกฺวิ > มาล + อา = มาลา แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ยินดีแห่งหมู่ภมร

คำว่า “มาลา” นักเรียนบาลีมักแปลว่า “ระเบียบ” หมายถึงดอกไม้ที่นำมาร้อยให้เป็นระเบียบ (a garland or wreath of flowers)

มาลา” จึงหมายถึงระเบียบ, แนว, แถว (row, line) อีกด้วย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “มาลา” ไว้ดังนี้ –

มาลา : (คำนาม) ดอกไม้, ดอกไม้ที่จัดแต่งขึ้นตามโครงรูปต่าง ๆ เช่น วงกลม วงรี มักมีใบไม้เป็นส่วนประกอบด้วย สำหรับวางที่อนุสาวรีย์ พระบรมรูป หรือศพ เป็นต้น เพื่อเป็นเกียรติหรือแสดงความเคารพ เรียกว่า พวงมาลา; หมวก (ราชาศัพท์ใช้ว่า พระมาลา); สร้อยคอ; สาย, แถว. (ป., ส.).”

เกตุ + มาลา = เกตุมาลา แปลตามศัพท์ว่า “ระเบียบแห่งรัศมี” หมายถึง วงรัศมี (garland of rays)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “เกตุมาลา” ไว้ดังนี้ –

เกตุมาลา : (คำนาม) พระรัศมีซึ่งเปล่งอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า. (ป.).”

…………..

อภิปราย :

พจนานุกรมไทยบอกว่า “เกตุมาลา” คือ พระรัศมีซึ่งเปล่งอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งทำบอกว่า “เกตุมาลา” คือ garland of rays (วงรัศมี) คือรัศมีที่เป็นวงเสมือนพวงมาลารอบพระเศียรของพระพุทธเจ้า

ผู้รู้ในทางพุทธศิลป์บอกว่า “เกตุมาลา” คือเปลวรัศมีเป็นยอดแหลมเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า ซึ่งพุทธศิลป์บางสกุลช่างไม่ทำเป็นยอดแหลม แต่ทำเป็นบัวตูม และมักเรียกกันว่า “ ‘เกด’ บัวตูม”

ในภาษานักเลงพระ มีคำว่า “ ‘เกด’ บิดตาแดง” หมายถึงลักษณะของพระพุทธรูปบางแบบที่เปลวรัศมีเหนือพระเศียรไม่ตั้งตรง แต่บิดไปข้างหนึ่ง

คำที่ออกเสียงว่า “เกด” ในที่นี้ มักจะเข้าใจกันว่า คือ “เกศ” ที่หมายถึงพระเศียร แต่เมื่อดูความหมายของคำแล้ว คำว่า “เกด” บัวตูม ก็ดี “เกด” บิดตาแดง ก็ดี น่าจะสะกดเป็น “เกตุ” (เกตุบัวตูม เกตุบิดตาแดง) คือตัดมาจากคำว่า “เกตุมาลา

ในเมืองไทยมีประติมากรรมแห่งหนึ่งปั้นเป็นเปลวรัศมีแบบเดียวกับยอดแหลมเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า เรียกชื่อว่า “โลกุตระ”

เกตุมาลา” ที่หมายถึงยอดแหลมเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้านั้น ผู้รู้ท่านว่าเป็นปริศนาธรรม หมายถึงพระปัญญาตรัสรู้ที่แทงทะลุปัญหาคือทุกข์ทั้งปวง หรือแทงทะลุกระแสโลกยกจิตขึ้นอยู่เหนือโลก

วิหารหรือศาลาสมัยเก่าหลายแห่งที่ประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ เพดานเหนือพระเศียรจะเจาะช่องให้ยอดพระเกตุมาลาทะลุขึ้นไป ดูเผินๆ เหมือนกับว่าทำเพดานเตี้ยไปหน่อยหนึ่ง แต่ท่านว่านั่นคือปริศนาธรรม เตือนใจผู้ไหว้พระให้ระลึกว่า จงมีปัญญาแทงทะลุกระแสโลก

ตัวอย่างวิหารหรือศาลาเช่นว่านี้ดูได้จากภาพประกอบภาพสุดท้ายของบาลีวันละคำวันนี้ ซึ่งเป็นวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ราชบุรี ประดิษฐานพระมงคลบุรีอันเป็นพระประจำเมือง

…………..

ดูก่อนภราดา!

สำหรับปุถุชนแล้ว –

: สติปัญญาที่เป็นระเบียบ มีไว้สำหรับเสียบแทงทะลุปัญหา

: สติปัญญาที่ไร้ระเบียบ มีไว้สำหรับถูกเสียบติดอยู่กับปัญหา

14-12-59