บาลีวันละคำ

กัลปาวสาน (บาลีวันละคำ 1,653)

กัลปาวสาน

อ่านว่า กัน-ละ-ปา-วะ-สาน

ประกอบด้วย กัลป + อวสาน

(๑) “กัลป

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “กปฺปฺ” (กับ-ปะ) รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย

: กปฺปฺ + = กปฺป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(2) จุดสีดำเล็กๆ (a small black dot)

(3) ทำเลศนัย (a making-up of a trick)

(4) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)

(5) เวลาที่แน่นอน (a fixed time); เวลาที่กำหนดไว้ชั่วกัปหนึ่ง (time with ref. to individual and cosmic life)

บาลี “กปฺป” สันสกฤตเป็น “กลฺป” เราใช้อิงสันสกฤสตเป็น “กัลป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัลป-, กัลป์ : (คำนาม) กัป, อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก ซึ่งได้แก่ช่วงเวลากลางวัน วันหนึ่งของพระพรหม คือ ๑,๐๐๐ มหายุค (เท่ากับ ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์) เมื่อสิ้นกัลป์ พระอิศวรจะล้างโลกด้วยไฟประลัยกัลป์ โลกจะไร้สิ่งมีชีวิตและอยู่ในความมืดมนจนถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ แล้วพระพรหมก็จะสร้างโลกเป็นการขึ้นต้นกัลป์ใหม่ โลกจะถูกสร้างและถูกทำลายเช่นนี้สลับกันตลอดอายุของพระพรหม ทั้งนี้ตามคติของพราหมณ์, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัป เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ส.; ป. กปฺป).”

(๒) “อวสาน

บาลีอ่านว่า อะ-วะ-สา-นะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + สา (ธาตุ = จบ, สิ้นสุด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น “อน” (อะ-นะ)

: อว + สา = อวสา + ยุ > อน = อวสาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การสิ้นสุดลง” หมายถึง การจบลง; การสิ้นสุด, การจบเสร็จ, การลงเอย (stopping ceasing; end, finish, conclusion)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อวสาน : จบ, สิ้นสุด; การสิ้นสุด, ที่สุด. (ป., ส.).”

อวสาน” มักเขียนผิดเป็น “อวสานต์

อวสานต์” อาจแยกศัพท์เป็น อวสา = จบ + อันต = ที่สุด = อวสานต์ (ขอย้ำว่าเขียนผิด ไม่มีศัพท์เช่นนี้) = ที่สุดของจบ > เวลาของการจบนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ต่อจากนี้ไปจะเป็นเวลาของการไม่จบ > ดำเนินต่อไป > ยังไม่จบ

เพราะฉะนั้น โปรดทราบว่า “อวสาน” ไม่ต้องมี ต์ การันต์

กปฺป + อวสาน = กปฺปาวสาน > กัลปาวสาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัลปาวสาน : (คำนาม) ที่สุดแห่งระยะเวลากัลป์หนึ่ง คือ ช่วงเวลา ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์. (ส. กลฺป + อวสาน).”

…………..

แนวคิดเรื่อง “กัป, กัลป์ = เวลาที่กำหนดไว้” มีหลายมุมมอง แต่ที่ควรทราบไว้เป็นหลักเมื่อพูดถึงคำว่า “กัป” ก็คือ กัปมี 2 อย่าง คือ

(1) “อายุกัป” กำหนดอายุของสิ่งมีชีวิตในห้วงเวลาหนึ่ง เช่น อายุคนในห้วงเวลานี้คือ 100 ปี (บวก-ลบ)

(2) “มหากัป” ช่วงเวลาที่ยาวนานนักหนาจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดของสกลจักรวาล ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า มีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ 1 โยชน์ ทุก 100 ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอเพราะการเสียดสีระหว่างหินกับผ้าจนราบเสมอพื้นดิน กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน?

ทำมาหากิน : ให้นึกว่าชีวินจะอยู่ไปชั่วกัลปาวสาน

ทำบุญสุนทาน : ให้นึกว่าสังขารจะอยู่แค่เช้าชั่วเย็น

13-12-59