บาลีวันละคำ

สัญญาวิปลาส (บาลีวันละคำ 1,656)

สัญญาวิปลาส

อ่านว่า สัน-ยา-วิ-ปะ-ลาด ก็ได้

อ่านว่า สัน-ยา-วิบ-ปะ-ลาด ก็ได้

(ตาม พจน.54)

ประกอบด้วย สัญญา + วิปลาส

(๑) “สัญญา

บาลีเขียน “สญฺญา” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: สํ > สญฺ + ญา + กฺวิ = สญฺญากฺวิ > สญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ

สญฺญา” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)

(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)

(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)

(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)

(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญญา : (คำนาม) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจํา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (คำกริยา) ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).”

(๒) “วิปลาส

บาลีเป็น “วิปลฺลาส” (วิ-ปัน-ลา-สะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + อสฺ (ธาตุ = ซัด, ขว้างไป) + ปัจจัย, ลบ , แปลง อิ ที่ ปริ เป็น ย (ปริ > ปรฺย), แปลง ที่ ปรฺ เป็น (ปรฺ > ปลฺ), แปลง ลฺย (คือ ปริ > ปรฺย > ปลฺย) เป็น (ปลฺย > ปลฺ), ซ้อน , ทีฆะ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (อสฺ > อาส)

: วิ + ปริ = วิปริ > วิปรฺย > วิปลฺย > วิปล > วิปลฺล + อสฺ = วิปลฺลส + = วิปลฺลสณ > วิปลฺลส > วิปลฺลาส 

วิปลฺลาส” แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ขว้างไปผิด” หมายถึง ความแปรปรวน, ความพลิกผัน, การกลับกัน, ความเปลี่ยนแปลง (โดยเฉพาะในทางไม่ดี), ความตรงกันข้าม, ความวิปริต, การทำให้ยุ่งเหยิง, ความเสียหาย, ความผิดเพี้ยน (reversal, change (esp. in a bad sense), inversion, perversion, derangement, corruption, distortion)

วิปลฺลาส” สันสกฤตเป็น “วิปรฺยาส

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิปรฺยาส : (คำนาม) ‘วิบรรยาส,’ ไวปรีตย์, ความวิปริต, วิปักษตา; วิการ, ปริณาม, หรือความวิบัท; การคิดเห็นสิ่งที่ผิดเปนชอบหรือเห็นเท็จเปนจริง; contrariety, opposition; reverse; imagining what is unreal or false to be real or true.”

วิปลฺลาส” ภาษาไทยเขียน “วิปลาส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิปลาส : (คำกริยา) คลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ เช่น สติวิปลาส ตัวอักษรวิปลาส สัญญาวิปลาส. (ป. วิปลฺลาส, วิปริยาส; ส. วิปรฺยาส).”

สัญญา + วิปลาส = สัญญาวิปลาส แปลตามศัพท์ว่า “ความแปรปรวนแห่งความจำ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญญาวิปลาส : (คำวิเศษณ์) มีสติฟั่นเฟือนคล้ายคนบ้า, สติวิปลาส ก็ว่า. (ป. สญฺญาวิปลฺลาส).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [178] ขยายความคำว่า “สัญญาวิปลาส” ไว้ดังนี้ –

สัญญาวิปลาส : สัญญาคลาดเคลื่อน, หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู (Saññā-vipallāsa: distortion of perception).”

…………..

ความรู้ทางธรรม :

ในทางธรรม “วิปลาส” หมายถึงกิริยาที่ยึดถือโดยอาการวิปริตผิดจากความเป็นจริง, ความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่เป็นจริง ท่านแจงไว้เป็น 3 อย่าง คือ –

(1) สัญญาวิปลาสสำคัญผิด

(2) จิตวิปลาสคิดผิด

(3) ทิฐิวิปลาสเห็นผิด

วิปลาสแต่ละอย่างเป็นไปใน 4 เรื่อง คือ –

(1) เห็นสิ่งแปรปรวนเป็นสิ่งยั่งยืน

(2) เห็นทุกข์เป็นสุข

(3) เห็นว่าชีวิตมีตัวแท้อมตะ

(4) เห็นสิ่งไม่งามเป็นงาม

…………..

: ทำความดีเพราะเข้าใจผิด

: ก็ยังดีกว่าทำความผิดเพราะเข้าใจว่าดี

16-12-59