พุทธโฆษ (บาลีวันละคำ 1,657)
พุทธโฆษ
อ่านว่า พุด-ทะ-โคด
ประกอบด้วย พุทธ + โฆษ
(๑) “พุทธ”
บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า” และบางกรณีหมายรวมไปถึง “พระพุทธศาสนา” หรือ “เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา” ด้วย
(๒) “โฆษ”
บาลีเป็น “โฆส” อ่านว่าโค-สะ รากศัพท์มาจาก ฆุสฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ฆุ-(สฺ) เป็น โอ (ฆุสฺ > โฆส)
: ฆุสฺ + ณ = ฆุสณ > ฆุส > โฆส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การส่งเสียง” “ผู้ส่งเสียง”
“โฆส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เสียงตะโกน, เสียงดัง, การเปล่งเสียง (shout, sound, utterance)
(2) การตะโกน, การครวญคราง, การร้องคราง (shouting, howling, wailing)
บาลี “โฆส” สันสกฤตเป็น “โฆษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“โฆษ : (คำนาม) โคบาล; ธาตุระฆัง (ธาตุสำหรับหล่อระฆัง); เสียงฟ้าคำรนไม่กึกก้องห้องเวหา, ฟ้าร้องเบาๆ; ศัพท์, เสียง; ประกาศ; มศก, ยุง; a herdsman; bell-metal; low thunder; sound; a proclamation; a mosquito.”
พุทธ + โฆส = พุทธโฆส เขียนอิงสันสกฤตเป็น “พุทธโฆษ” แปลว่า “การประกาศพระพุทธศาสนา” “ผู้ประกาศคำสอนของพระพุทธเจ้า”
“พุทธโฆส” หรือ “พุทธโฆษ” เป็นชื่อของพระเถระสำคัญรูปหนึ่งในประวัติของพระพุทธศาสนา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต สรุปเรื่องของท่านไว้ดังนี้ –
……….
พระพุทธโฆสะ หรือที่นิยมเรียกว่าพระพุทธโฆสาจารย์นี้ เป็นบุตรพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านหนึ่งใกล้พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแคว้นมคธเมื่อประมาณ พ.ศ. 956 เรียนจบไตรเพท มีความเชี่ยวชาญมาก ต่อมาพบกับพระเรวตเถระ ได้โต้ตอบปัญหากัน สู้พระเรวตเถระไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อเรียนพุทธวจนะ มีความสามารถมาก ได้รจนาคัมภีร์ ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬกลับเป็นภาษามคธ ท่านเดินทางไปที่มหาวิหาร เกาะลังกา เมื่อขออนุญาตแปลคัมภีร์ ถูกพระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา 2 บท เพื่อแต่งทดสอบความรู้ พระพุทธโฆสาจารย์จึงแต่งคำอธิบายคาถาทั้งสองนั้นขึ้นเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานแปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสู่ชมพูทวีป พระพุทธโฆสาจารย์เป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผลงานมากที่สุด
…………..
เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาถึงประเทศไทยและมีธรรมเนียมพระมหากษัตริย์พระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ ก็นิยมนำชื่อ “พุทธโฆษ” มาตั้งเป็นราชทินนาม
ปัจจุบัน นาม “พุทธโฆษ” เป็นราชทินนามสมเด็จพระราชาคณะ เรียกเต็มว่า “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์”
…………..
: ผู้ครองชีวิตอย่างบริสุทธิ์สะอาด
: แม้ไม่ขึ้นธรรมาสน์ ก็เป็นยอดของผู้ประกาศพุทธธรรม
17-12-59