บาลีวันละคำ

อนุจร (บาลีวันละคำ 1,660)

อนุจร

อ่านว่า อะ-นุ-จอน

ประกอบด้วย อนุ + จร

(๑) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก

ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า ตาม

(๒) “จร

บาลีอ่านว่า จะ-ระ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลบ

: จรฺ + = จรณ > จร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เที่ยวไป” “ผู้ประพฤติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จร” เป็นอังกฤษว่า –

(1) the act of going about, walking; one who walks or lives (การเที่ยวไป, การเดินไป, ผู้เดินหรืออยู่)

(2) one who is sent on a message, a secret emissary, a spy (ผู้ถูกให้ไปส่งข่าว, จารบุรุษ, คนสอดแนม)

อนุ + จร = อนุจร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติตาม” “ผู้ดำเนินตาม” “ผู้เที่ยวตาม (คนอื่น) ไป

อนุจร” คำกริยาเป็น “อนุจรติ” (อะ-นุ-จะ-ระ-ติ) มีความหมายว่า สัญจรไป, ติดตามไป; ปฏิบัติหรือประพฤติ (to move along, to follow; to practice)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุจร : (คำนาม) ผู้ประพฤติตาม, ผู้ติดตาม; เรียกพระภิกษุลูกวัดว่า พระอนุจร, พระอันดับ ก็เรียก. (ป., ส.).”

…………..

อภิปราย :

อนุจร” เป็นภาษาวัด ชาววัดนิยมเรียกพระที่บวชก่อนบวชนานว่า “พระเถระ” เรียกคู่กับพระที่บวชทีหลังซึ่งเป็นชั้นผู้น้อยว่า “พระอนุจร

ถ้าวาดเป็นภาพการเดินเป็นแถวจะเห็นชัด พระเถระเดินนำหน้า พระผู้น้อยเดินตามหลัง นี่คือ “อนุจร

ทุกสังคม-ไม่เว้นแม้แต่สังคมสมณะ-ต้องมีผู้นำและผู้ตาม

ผู้นำต้องนำหน้า มีหน้าที่บอกให้จำ ทำให้เห็น เป็นให้ดู

ผู้ตามมีหน้าที่ศึกษา เรียนรู้ ทำตาม

ต่างรู้หน้าที่ของตน พร้อมที่จะเกื้อกูลสนับสนุนกันและกันเพื่อให้สังคมดำเนินไปตามครรลองที่ถูกต้อง

…………..

: ถ้าลังเล อย่ามาเป็นผู้นำ

: ถ้าพูดคำเถียงคำ อย่ามาเป็นผู้ตาม

20-12-59