บาลีวันละคำ

ตถาคต (บาลีวันละคำ 1,670)

ตถาคต

มีความหมายมากกว่าที่เคยเข้าใจ

ภาษาไทยอ่านว่า ตะ-ถา-คด

บาลีอ่านว่า ตะ-ถา-คะ-ตะ

(๑) ความหมายที่หนึ่ง

ตถาคต” รากศัพท์มาจาก –

(1) ตถา (คำอุปสรรค = อย่างนั้น, เช่นนั้น) + คต (ไปแล้ว)

: ตถา + คต = ตถาคต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น

(2) ตถา (คำอุปสรรค = อย่างนั้น, เช่นนั้น) + อา (คำอุปสรรค = กลับความ) + คต (ไปแล้ว)

อา + กลับความ : ไป > มา

คต ไปแล้ว : อาคต = มาแล้ว

: ตถา + อา + คต = ตถาคต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น” (2) “ผู้เสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้จริง

ความหมายนี้ “ตถาคต” หมายถึง พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตถาคต” ว่า he who has won through to the truth (ผู้ซึ่งได้ชัยชนะจนบรรลุสัจธรรม)

(๒) ความหมายที่สอง

ตถาคต” รากศัพท์มาจาก ตถา (คำอุปสรรค = อย่างนั้น, เช่นนั้น) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > )

: ตถา + คมฺ = ตถาคมฺ + = ตถาคมฺต > ตถาคต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถึงความเกิดแก่ตายเหมือนสัตวโลกในอดีต” (สัตวโลกในอดีตคือที่เกิดมาแล้วก็ตายไปแล้ว ที่เกิดอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดในอนาคตก็จะต้องตายเช่นเดียวกัน)

ความหมายนี้ “ตถาคต” หมายถึง สัตวโลก คือมนุษย์ธรรมดาทั่วไป (a being)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ตถาคต” (Tathāgata) เป็นอังกฤษว่า –

1. the Accomplished One; the Thus-come; the Thus-gone; the Truth-winner; an epithet of the Buddha.

2. An Arahant.

3. a being.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตถาคต : (คำนาม) คำเรียกพระพุทธเจ้า, คำที่พระพุทธเจ้าใช้แทนพระองค์เอง. (ป. ตถาคต ว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เอง).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า “ตถาคต” ไว้ดังนี้ –

ตถาคต : พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย 8 อย่าง คือ

(1) พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น

(2) พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชาสละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น

(3) พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง

(4) พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจจ์ 4 หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน

(5) พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง

(6) พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น

(7) พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น

(8) พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจ เป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ตถาคตไม่ใช่คนธรรมดา

: แต่คนธรรมดาสามารถเป็นตถาคตได้

บำเพ็ญบารมีเข้าสิ!

30-12-59