กิจของสงฆ์ (บาลีวันละคำ 1,687)
กิจของสงฆ์
คำไม่ยาก แต่เข้าใจไม่ง่าย
“กิจของสงฆ์” มีคำบาลี 2 คำ คือ “กิจ” และ “สงฆ์
(๑) “กิจ”
บาลีเป็น “กิจฺจ” (กิด-จะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ริจฺจ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ก)-รฺ (กรฺ > ก) และ ร ที่ ริ-(จฺจ) (ริจฺจ > อิจฺจ)
: กรฺ > ก + ริจฺจ > อิจฺจ : ก + อิจฺจ = กิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)
“กิจฺจ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กิจ” (กิด)
(๒) “สังฆ”
บาลีเป็น “สงฺฆ” (สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + หนฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ง (สํ > สงฺ), แปลง หนฺ เป็น ฆ
: สํ > สงฺ + หนฺ > ฆ : สงฺ + ฆ = สงฺฆ + อ = สงฺฆ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “หมู่เป็นที่ไปรวมกันแห่งส่วนย่อยโดยไม่แปลกกัน” หมายความว่า ส่วนย่อยที่มีคุณสมบัติหลักๆ “ไม่แปลกกัน” คือมีคุณสมบัติตรงกัน เหมือนกัน ส่วนย่อยดังกล่าวนี้ไปอยู่รวมกัน คือเกาะกลุ่มกัน ดังนี้เรียกว่า “สงฺฆ”
(2) “หมู่ที่รวมกันโดยมีความเห็นและศีลเสมอกัน” ความหมายนี้เล็งที่บรรพชิตหรือสาวกที่เป็นนักบวชในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่นภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ต้องมีความคิดเห็นและความประพฤติลงรอยกันจึงจะรวมเป็น “สงฺฆ” อยู่ได้
“สงฺฆ” จึงหมายถึง หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
“สงฺฆ” ปกติในภาษาไทยใช้ว่า “สงฆ์” ถ้าอยู่หน้าคำสมาสมักใช้เป็น “สังฆ-”
“สงฆ์” ในภาษาไทย อาจหมายถึงภิกษุที่รวมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ หมายถึงภิกษุแต่ละรูปก็ได้
“กิจของสงฆ์” เป็นคำพูดธรรมดาในภาษาไทย มีความหมาย 2 นัย คือ :
(1) สังฆกรรมต่างๆ ตามพระวินัยที่ภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปร่วมกันทำ เช่น อุโบสถกรรม (ประชุมฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน) อุปสมบทกรรม (พิธีบวช) กฐินกรรม (รับกฐิน) ตลอดจนกิจทั่วไปที่ภิกษุผู้อยู่ร่วมกันจะพึงช่วยกันทำ เช่น ดูแลรักษาและซ่อมแซมเสนาสนะ กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์ เป็นต้น
(2) กิจส่วนตัวของภิกษุแต่ละรูปที่จะพึงปฏิบัติตามพระวินัย เช่น บิณฑบาต ทำวัตรสวดมนต์ ศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติกรรมฐาน เป็นต้น รวมทั้งกิจอื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อสมณวิสัย
พระสงฆ์รุ่นเก่าในเมืองไทยกำหนด “กิจของสงฆ์” ไว้ เรียกกันว่า “กิจวัตร 10 อย่าง” มีความดังนี้ –
…………..
กิจวัตร 10 อย่างของภิกษุ
1. ลงอุโบสถ
2. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
3. สวดมนต์ไหว้พระ
4. กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์
5. รักษาผ้าครอง
6. อยู่ปริวาสกรรม
7. โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ
8. ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์
9. เทศนาบัติ
10. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง 4 เป็นต้น
กิจวัตร 10 เหล่านี้เป็นกิจใหญ่ ควรที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัด และจำไว้เพื่อปฏิบัติสมควรแก่สมณสารูปแห่งตน
…………..
มักมีปัญหาเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเมื่อเห็นการกระทำของพระสงฆ์ว่า “นั่นใช่กิจของสงฆ์หรือเปล่า”
นอกจากมีพระธรรมวินัย และ “กิจวัตร 10 อย่าง” เป็นกรอบพิจารณาแล้ว ก็มีหลักอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ :
“วิญฺญุปสตฺถ” (วิน-ยุ-ปะ-สัด-ถะ) = วิญญูชนสรรเสริญ หรือ –
“วิญฺญุครหิต” (วิน-ยุ-คะ-ระ-หิ-ตะ) = วิญญูชนติเตียน
หมายความว่า การกระทำนั้นๆ ผู้ที่รู้เรื่องนั้นแจ่มแจ้งดีและมีคุณธรรมท่านสรรเสริญหรือตำหนิ ถ้าท่านสรรเสริญก็ควรทำ ถ้าท่านตำหนิก็ไม่ควรทำ
โปรดสังเกตว่า ท่านใช้คำว่า “วิญญูชน” เพราะคำสรรเสริญหรือคำตำหนิอาจมาจาก “พาลชน” คือผู้ไม่รู้เรื่องนั้นๆ อย่างถูกต้องถ่องแท้ แต่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปตัดสิน เช่นถ้าเรื่องนั้นถูกใจตน ก็บอกว่าเป็นกิจของสงฆ์ ถ้าเรื่องนั้นไม่ถูกใจตน ก็ว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์
…………..
: พระศักดิ์สิทธิ์ เพราะทำกิจของสงฆ์
: พระวิปริต เพราะทำสิ่งที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์
16-1-60