บาลีวันละคำ

ราชสังคหวัตถุ (บาลีวันละคำ 928)

ราชสังคหวัตถุ

อ่านว่า รา-ชะ-สัง-คะ-หะ-วัด-ถุ

หรือ ราด-ชะ-สัง-คะ-หะ-วัด-ถุ ก็ได้

ประกอบด้วย ราช + สังคห + วัตถุ

(๑) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลว่า พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า “เป็นของพระเจ้าแผ่นดินหรือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน

ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ

(๒) “สังคห

บาลีเขียน “สงฺคห” อ่านว่า สัง-คะ-หะ แปลตามศัพท์ว่า “รวมเข้าด้วยกัน” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “สงเคราะห์

สงฺคห” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง ในที่นี้หมายถึง อัธยาศัยดี, ความกรุณา, ความเห็นใจ, ความเป็นมิตร, การช่วยเหลือ, การค้ำจุน, การป้องกัน, การอนุเคราะห์ (kind disposition, kindliness, sympathy, friendliness, help, assistance, protection, favour)

(๓) “วัตถุ

บาลีเขียน “วตฺถุ” อ่านว่า วัด-ถุ

คำนี้สันสกฤตเป็น “วสฺตุ” ภาษาไทยเอามาใช้ว่า วัตถุ, วัสดุ, พัสดุ

และจำกัดความหมายแตกต่างกัน คือ –

(1) “วัตถุ” หมายถึงสิ่งของทั่วไปที่สามารถสัมผัสจับต้องได้

(2) “วัสดุ” หมายถึงของที่นํามาใช้เพื่อประกอบขึ้นเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น วัสดุก่อสร้าง; ของใช้ที่มีอายุการใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ ใช้แล้วหมดเปลืองไป เช่น กระดาษ ดินสอ

(3) “พัสดุ” หมายถึงสิ่งของต่าง ๆ เช่นในคำว่า พัสดุไปรษณีย์, พัสดุภัณฑ์, เครื่องใช้ไม้สอย

แต่ “วตฺถุ” ในภาษาบาลีมีความหมายกว้างกว่าในภาษาไทย คือ –

(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)

(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)

(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, base, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)

(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)

(5) เรื่อง, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)

(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)

ในที่นี้ “วัตถุ” ใช้ในความหมายว่า ที่ตั้ง, หลักการ หรือวิธีการ (base, ground, object)

ราช + สังคห + วัตถุ = ราชสังคหวัตถุ แปลตามศัพท์ว่า “หลักการสงเคราะห์ของพระราชา

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อที่ 187 แสดงเรื่อง “ราชสังคหวัตถุ” ไว้ดังนี้ –

……….

สังคหวัตถุของผู้ครองแผ่นดิน หรือ ราชสังคหวัตถุ 4 (สังคหวัตถุของพระราชา, ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง (a ruler’s bases of sympathy; royal acts of doing favors; virtues making for national integration)

(1) สัสสเมธะ – ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร (shrewdness in agricultural promotion)

(2) ปุริสเมธะ – ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ (shrewdness in the promotion and encouragement of government officials)

(3) สัมมาปาสะ – ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น (‘a bond to bind men’s hearts’; act of doing a favor consisting in vocational promotion as in commercial investment)

(4) วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ – ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าในอันดี และความนิยมเชื่อถือ (affability in address; kindly and convincing speech)

ราชสังคหวัตถุ 4 ประการนี้ เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ส่วนที่แก้ไขปรับปรุงคำสอนในศาสนาพราหมณ์ โดยกล่าวถึงคำศัพท์เดียวกัน แต่ชี้ถึงความหมายอันชอบธรรมที่ต่างออกไป ธรรมหมวดนี้ ว่าโดยศัพท์ ตรงกับ มหายัญ 5 (the five great sacrifices) ของ พราหมณ์ คือ.-

(1) อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ – horse-sacrifice)

(2) ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ – human sacrifice)

(3) สัมมาปาสะ (ยัญอันสร้างแท่นบูชาไว้ที่ขว้างไม้ลอดบ่วงไปหล่นลง – peg-thrown site sacrifice)

(4) วาชเปยะ (การดื่มเพื่อพลังหรือเพื่อชัย – drinking of strength or of victory)

(5) นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือ ทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด, การฆ่าครบทุกอย่างบูชายัญ – the bolts-withdrawn sacrifice; universal sacrifice)

มหายัญ 5 ที่พระราชาพึงบูชาตามหลักศาสนาพราหมณ์นี้ พระพุทธศาสนาสอนว่า เดิมทีเดียวเป็นหลักการสงเคราะห์ที่ดีงาม แต่พราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญเพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน ความหมายที่พึงต้องการ ซึ่งพระพุทธศาสนาสั่งสอน 4 ข้อแรก มีดังกล่าวแล้วข้างต้น ส่วนข้อที่ 5 ตามหลักสังคหวัตถุ 4 นี้ ว่าเป็นผล (นิรัคคฬะ) แปลว่า “ไม่มีลิ่มกลอน” หมายความว่า บ้านเมืองจะสงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน

………….

๏ เพียงตามรอยยุคลบาท

ด้วยราชสังคหวัตถุที่ทรงบำเพ็ญ

แผ่นดินไทยจักร่มเย็น

ทุกทิพาราตรีกาล๚ะ๛

————

(ภาพจากโพสต์ของ Nha Chandransu เมื่อ 2-12-57)

#บาลีวันละคำ (928)

2-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *