วาจาสิทธิ์ (บาลีวันละคำ 1,692)
วาจาสิทธิ์
อ่านว่า วา-จา-สิด
ประกอบด้วย วาจา + สิทธิ์
(๑) “วาจา”
รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์
: วจฺ + ณ = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)
(๒) “สิทธิ์”
บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ, อ่านว่า สิด-ทิ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ (สิธฺ > สิ)
: สิธฺ > สิ + ติ > ทฺธิ : สิ + ทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ”
(2) ส (ตัดมาจาก “สห” = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อิทฺธิ
๑) “อิทฺธิ” รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ (อิธฺ > อิทฺธ)
: อิธฺ > (อิ + ทฺ) อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ”
๒) ส + อิทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นไปพร้อมกับความสำเร็จ”
“สิทฺธิ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง (accomplishment, success, prosperity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สิทธิ, สิทธิ์ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้. (ป., ส.); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อำนาจที่กฎหมายรับรองให้กระทำการใด ๆ โดยสุจริตได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น. (อ. right).”
วาจา + สิทธิ์ = วาจาสิทธิ์ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จโดยวาจา” (แปลจากหลังไปหน้า)
คำนี้ในภาษาไทยมักเข้าใจในความหมายว่า “มีวาจาที่ศักดิ์สิทธิ์” (แปลจากหน้าไปหลัง) คือพูดเรื่องอะไรไว้ เรื่องนั้นเกิดเป็นจริงตามที่พูด ทำนองเดียวกับทำนายทายทักได้แม่น หรือพูดให้ใครเป็นอะไรก็เป็นไปตามที่พูด บางทีก็เรียกว่า “ปากศักดิ์สิทธิ์”
มีคนเชื่อกันว่าบุคคลบางคนมี “วาจาสิทธิ์” จนถึงกับเรียกเป็นสมญานามควบไปกับชื่อ เช่น “พระร่วงวาจาสิทธิ์” “พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์”
คนเก่ากล่าวไว้ว่า ปากพ่อปากแม่เป็น “ปากศักดิ์สิทธิ์” พูดให้ลูกเป็นอะไรก็ได้ จึงมีคำเตือนพ่อแม่ไว้ว่า อย่าแช่งด่าลูก จะเป็นจริงดังปากพ่อแม่
เรามักนับถือตื่นเต้นไปกับบุคคลที่เชื่อกันว่ามี “วาจาสิทธิ์” แต่ไม่ค่อยได้สนใจศึกษาว่าท่านเหล่านั้นมีวาจาสิทธิ์จริงหรือ และคนเรามีวาจาสิทธิ์ได้เพราะเหตุไร
…………..
: วาจาสิทธิ์ ไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่ากับวาจาสัตย์
21-1-60