บาลีวันละคำ

เล่ห์กล (บาลีวันละคำ 1,723)

เล่ห์กล

คำที่มีเล่ห์กลมิใช่เล่น

อ่านว่า เล่-กน

แยกศัพท์เป็น เล่ห์ + กล

(๑) “เล่ห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เลห, เล่ห์ : (คำนาม) กลอุบายหรือเงื่อนงําอันอาจทําให้คนอื่นหลงผิด เข้าใจผิด, ใช้ว่า เล่ห์กล ก็มี. (คำวิเศษณ์) คล้าย, เปรียบ, เช่น, เหมือน.”

ข้อสังเกต :

๑ พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “เลห” อ่านอย่างไร เล-หะ หรือ เล่ หรือ เล

๒ พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “เลห” หรือ “เล่ห์” เป็นภาษาอะไร

ในบาลียังไม่พบคำว่า “เลห” ที่มีความหมายตรงกับ “เล่ห์” ในภาษาไทย

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอสันนิษฐานว่า “เลห” หรือ “เล่ห์” แผลงมาจาก “เลส” ในบาลี

เลส” อ่านว่า เล-สะ รากศัพท์มาจาก ลิสฺ (ธาตุ = ติดอยู่, ข้องอยู่) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ลิ-(สฺ) เป็น เอ (ลิสฺ > เลส)

: ลิสฺ + = ลิสณ > ลิสฺ > เลส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องที่ติดข้องอยู่” หมายถึง การลวง, ข้ออ้างแก้ตัว, กลอุบาย, การแสร้งทำ (sham, pretext, trick)

จะเห็นได้ว่า “เลส” ในบาลีกับ “เล่ห์” ในภาษาไทยมีความหมายตรงกัน

ในสันสกฤตมีคำว่า “เลศ” ซึ่งตามหลักแล้วควรจะตรงกับ “เลส” ในบาลี แต่ปรากฏว่าความหมายไม่ตรงกับ “เลส” ในที่นี้

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(1) เลศ : (คุณศัพท์) เล็ก, น้อย; small, little.

(2) เลศ : (คำนาม) ความเล็ก, ความน้อย; smallness, littleness.

แต่ “เลส” ในบาลีแปลว่า เล็กน้อย, นิดหน่อย หรือ ส่วนน้อยที่สุด (particle) ก็ได้ด้วยเช่นกัน

เลส” เป็น “เล่ห์” ได้อย่างไร ?

ตอบได้ด้วยคำเทียบ นั่นคือคำว่า “อุปเทห์” (อุ-ปะ-เท่, อุบ-ปะ-เท่)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปเท่ห์ : (คำนาม) อุบายดําเนินการ, วิธีดําเนินการ. (ส. อุปเทศ; ป. อุปเทส).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อุปเทห์” สันสกฤตเป็น “อุปเทศ” บาลีเป็น “อุปเทส

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อุปเทศ : (คำนาม) คำแนะนำ, คำบอกหรือชี้แจง; คำสั่ง, คำสั่งสอน; มายา; การเริ่มแนะนำสั่งสอน; การบอกมนตร์หรือสูตรเบื้องต้น; ภาคต้น; advice, information; instruction; pretext or plea; initiation; communication of initiatory mantra or formula; an elementary term.”

อุปเทส” (อุ-ปะ-เท-สะ) ในบาลี แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เข้าไปหาอาจารย์แล้วแสดง” หมายถึง การชี้แจง, การบ่งชี้, การแนะนำ, การสั่งสอน (pointing out, indication, instruction, advice)

เป็นอันยืนยันได้ว่า “อุปเทศ” “อุปเทส” “อุปเทห์” มีความหมายอย่างเดียวกัน

ถ้า อุปเทส = อุปเท่ห์ ก็คือ : –เทส = –เท่ห์

ดังนั้น : เลส = เล่ห์

(๒) “กล

คำนี้ตรงกับบาลีว่า “กลา” (กะ-ลา) รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กลฺ + = กล + อา = กลา แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันเขานับด้วย ๑ เป็นต้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กลา” ดังนี้ –

(1) a small fraction of a whole, one infinitesimal part (เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม, ส่วนที่เล็กน้อยเหลือประมาณ)

(2) an art, a trick (อุบาย, การหลอกลวง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กล, กล– : (คำนาม) การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง; เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล; เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์, เช่น ช่างกล. (คำวิเศษณ์) เช่น, อย่าง, เหมือน, เช่น เหตุผลกลใด; เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ. (คำที่ใช้ในกฎหมาย).”

จะเห็นได้ว่าความหมายในภาษาไทยที่ตรงกับบาลีก็มี ที่ใช้แตกต่างออกไปก็มี

เล่ห์ + กล = เล่ห์กล

เป็นคำซ้ำความที่เอาบาลีมาใช้แบบไทย และประสมกันแบบไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) เล่ห์กล ๑ : (คำนาม) การลวงหรือล่อลวงให้หลงผิดหรือเพื่อให้เข้าใจผิด.

(2) เล่ห์กล ๒, เล่ห์เหลี่ยม : (คำนาม) ชั้นเชิง, อุบาย.

…………..

สรุปว่า กว่าจะมาเป็น “เล่ห์กล” ได้ ก็ต้องใช้เล่ห์กลทางภาษากันมิใช่น้อย

…………..

ดูก่อนภราดา!

อันว่าเล่ห์กลนั้น

: ถ้าใช้เพื่อแก้ปัญหา ก็ช่วยให้แก้ปัญหานั้นได้ง่ายที่สุด

: ถ้าใช้เพื่อก่อปัญหา ก็ทำให้ปัญหานั้นแก้ได้ยากที่สุด

21-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย