บาลีวันละคำ

มหารัตนอุบาสิกา (บาลีวันละคำ 1,722)

มหารัตนอุบาสิกา

รู้ศัพท์ไว้ประดับความรู้

อ่านว่า มะ-หา-รัด-ตะ-นะ-อุ-บา-สิ-กา

แยกศัพท์เป็น มหา + รัตน + อุบาสิกา

(๑) “มหา” (มะ-หา)

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหนฺต เข้าสมาสกับ –รัตน– เปลี่ยนรูปเป็น “มหา

(๒) “รัตน

บาลีเป็น “รตน” (ระ-ตะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

1) รติ (ความยินดี) + ตนฺ (ธาตุ = ขยาย, แผ่ไป) + ปัจจัย, ลบ , ลบ ติ ที่ รติ (รติ > )

: รติ + ตนฺ = รติตน + = รติตนณ > รติตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี” คือเพิ่มความยินดีให้

2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ตน ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > )

: รมฺ + ตน = รมตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน

3) รติ (ความยินดี) + นี (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, ลบ อิ ที่ รติ (รติ > รต), ลบสระที่ธาตุ (นี > )

: รติ + นี = รตินี + = รตินี > รตนี > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี

4) รติ (ความยินดี) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ รติ เป็น ะ (รติ > รต), ลบ ต้นธาตุ (ชนฺ > )

: รติ + ชนฺ = รติชนฺ + = รติชน > รตชน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น

รตน > รัตน > รัตน์ ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง ถ้าใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี

(๓) “อุบาสิกา

บาลีเป็น “อุปาสิกา” (อุ-ปา-สิ-กา) ประกอบขึ้นจาก อุปาสก + อิ อาคม + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

1) “อุปาสก” (อุ-ปา-สะ-กะ) รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้ ) + อาสฺ (ธาตุ = นั่ง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: อุป + อาสฺ = อุปาสฺ + ณฺวุ > อก : อุปาสฺ + อก = อุปาสก แปลตามศัพท์ว่า “ชายผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย

อุปาสก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาสก” (อุ-บา-สก)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุบาสก : (คำนาม) คฤหัสถ์ผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง. (ป., ส. อุปาสก).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปาสก” ว่า a devout or faithful layman, a lay devotee (ฆราวาสผู้ซื่อสัตย์หรือจงรักภักดี, อุบาสก)

2) อุปาสก + อิ อาคม + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อุปาสก + อิ + อา = อุปาสิกา แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย

อุปาสิกา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุบาสิกา” (อุ-บา-สิ-กา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุบาสิกา : (คำนาม) คฤหัสถ์ผู้หญิงที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง. (ป., ส. อุปาสิกา).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [259] แสดงคุณสมบัติของอุบาสก-อุบาสิกา ที่ปรากฏในคัมภีร์ดังนี้ –

อุบาสกธรรม 5 : ธรรมของอุบาสกที่ดี, สมบัติ หรือองค์คุณของอุบาสก อย่างเยี่ยม (Upāsaka-dhamma: qualities of an excellent lay disciple)

1. มีศรัทธา (to be endowed with faith)

2. มีศีล (to have good conduct)

3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ มุ่งหวังผลจากการกระทำและการงาน มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ (not to be superstitious, believing in deeds, not luck)

4. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา (not to seek for the gift-worthy outside of the Buddha’s teaching)

5. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา (to do his first service in a Buddhist cause)

ธรรม 5 อย่างนี้ ในบาลีที่มาเรียกว่า ธรรมของอุบาสกรัตน์ (อุบาสกแก้ว) หรือ ธรรมของอุบาสกปทุม (อุบาสกดอกบัว)

……..

มหา + รัตน + อุบาสิกา = มหารัตนอุบาสิกา แปลว่า “อุบาสิกาแก้วผู้ยิ่งใหญ่

…………..

ข้อสังเกต :

ในคัมภีร์แสดงไว้ว่า อุบาสิกาที่มี “อุบาสิกาธรรม” (คุณสมบัติของอุบาสิกาที่ดี) ท่านเรียกว่า “อุบาสิการัตน์” “หรือ “รัตนอุบาสิกา” แปลว่า “อุบาสิกาแก้ว” หรืออุบาสิกาที่ประเสริฐ

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ถ้าเอ่ยถึงอุบาสิกาที่ประเสริฐ เรามักนึกถึงนางวิสาขา (ผู้สนใจพึงศึกษาประวัติ) และมักเรียกกันว่า “วิสาขามหาอุบาสิกา”

ปัจจุบันมีสตรีที่ได้รับการยกย่องจากบางสำนักให้เป็น “มหารัตนอุบาสิกา” ซึ่งหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าออกจะสำคัญยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับ “วิสาขามหาอุบาสิกา” หรือยิ่งใหญ่กว่า เพราะท่านได้รับสถาปนาให้เป็น “มหารัตนอุบาสิกา” ในขณะที่นางวิสาขาเป็นเพียง “มหาอุบาสิกา

เราท่านพึงทำจิตให้เป็นกุศล และอนุโมทนาไปตามเหตุปัจจัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระอริยะหรือมหารัตนอุบาสิกา สามารถสถาปนากันได้ทุกคน

: แต่การบรรลุมรรคผล แต่ละคนต้องปฏิบัติเอาเอง

————

(ตามคำปรารภของของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร ผู้มีพระไตรรัตนะสถิตอยู่ในหัวใจ)

20-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย