บาลีวันละคำ

สัปต (บาลีวันละคำ 937)

สัปต

ไปอย่างไรมาอย่างไร

เช่นในคำว่า “สัปตปฏลเศวตฉัตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) สัปต– [สับตะ-] : (คำวิเศษณ์) เจ็ด. (ส.).

(2) สัปด– [สับดะ-] : (คำวิเศษณ์) เจ็ด. (ส. สปฺต; ป. สตฺต).

ทั้งสองคำบอกคำอ่านไว้ด้วย คือ สัปต– อ่านว่า สับ-ตะ และ สัปด– อ่านว่า สับ-ดะ

ที่ท้ายคำมีเครื่องหมายยติภังค์ (-) หมายความว่า คำนี้ไม่ใช้โดดๆ แต่ใช้นำหน้าคำอื่น

ที่คำว่า สัปต– บอกที่มาของคำว่าเป็นคำสันสกฤต

แต่ที่คำว่า สัปด– บอกไว้ว่า คำนี้สันสกฤตเป็น สปฺต (สับ-ตะ) บาลีเป็น สตฺต (สัด-ตะ)

เป็นอันได้คำตอบในเบื้องต้นว่า “สัปต” แปลว่า เจ็ด (จำนวน 7) เป็นรูปคำสันสกฤต (สปฺต) บาลีเป็น สตฺต

ที่เราเขียนคำนี้เป็น สัปต- หรือ สัปด- เราเขียนอิงสันสกฤต ไม่ใช่เพราะมีสูตรบาลีให้แปลง ตฺ เป็น ปฺ แต่ประการใด

ดังนั้น คำว่า “สัปตปฏลเศวตฉัตร” ก็หมายถึง เศวตฉัตรเจ็ดชั้น (ปฎล (ปะ-ดน) = หลังคา, เพดาน, ชั้น) ทำนองเดียวกับคำว่า “นพปฎล” (นบ-พะ-ปะ-ดน) ที่หมายถึงเศวตฉัตรเก้าชั้น

คำว่า สัปต หรือ สัปด ไม่มีใช้โดดๆ ต้องสมาสกับคำอื่นเสมอ เช่น:

สัปดปกรณ์, สัปดประกรณ์ : น. พระอภิธรรม 7 คัมภีร.

สัปดสดก (สับ-ดะ-สะ-ดก) : หมวดละร้อย 7 หมวด.

สัปดาห์, สัปดาหะ : รอบ 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์, ระยะ 7 วัน เช่น สัปดาห์แห่งการส่งเสริมพระพุทธศาสนา สัปดาห์แห่งการเขียนจดหมาย.

สัปตศก : เรียกปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข 7 เช่น ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 1347.

ใช้ภาษาเป็นบันไดไต่ไปหาความรู้:

(1) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “สตฺต” (จำนวนเจ็ด) ภาษาละตินเป็น septem

(2) คำว่า septem ชวนให้นึกถึงชื่อเดือน September (กันยายน)

(3) ถ้า septem หมายถึง “จำนวนเจ็ด” เดือน September ก็ต้องหมายถึง “เดือนที่เจ็ด

(4) และถ้าเป็นเช่นนั้น เดือนตุลาคม ซึ่งต่อจากกันยายน ก็ต้องเป็น “เดือนที่แปด” เดือนตุลาคมคือ October พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “อฏฺฐ” ที่แปลว่า แปด (จำนวน 8) ภาษาละตินเป็น octo ฉะนั้น October ก็ต้องมาจาก octo แน่นอน

(5) ไล่ต่อไป เดือนพฤศจิกายน ภาษาอังกฤษว่า November พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า ภาษาบาลี “นว” (นะ-วะ) = จำนวน 9 ภาษาละตินเป็น novem ดังนั้น November ก็คือ “เดือนที่เก้า

(6) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า จำนวน 10 ภาษาบาลีว่า “ทส” (ทะ-สะ) ภาษาละตินเป็น decem นี่ก็คือ December (เดือนธันวาคม) ดังนั้น December ก็คือ “เดือนที่สิบ

(7) เป็นอันได้ความรู้ว่า ชื่อเดือน September, October, November, December ในภาษาอังกฤษ ก็ตรงกับ สตฺต อฏฺฐ นว ทส หรือ 7-8-9-10 ในภาษาบาลีนี่เอง

(8) ถ้านับกันยายนเป็นเดือนที่ 7 ไล่ย้อนไป เดือนที่ 1 ก็คือ มีนาคม จึงสันนิษฐานได้ว่าจะต้องมีชาติใดชาติหนึ่งในยุโรปที่มีธรรมเนียมนับเดือนมีนาคมเป็นต้นปี เพราะชื่อเดือนเหล่านี้เป็นภาษาของชาติยุโรป

เราก็สามารถส่งต่อข้อมูลนี้ไปให้นักประวัติศาสตร์สืบค้นหาความรู้กันต่อไป

: รู้อะไร ก็สำคัญ

: แต่รู้เพื่อเอาไปทำอะไร สำคัญกว่า

—————-

(ถูกถามโดยพระคุณท่าน Phramaharungarun Arunachoti

ซึ่งพระคุณก็ถูกถามมาอีกต่อหนึ่ง)

#บาลีวันละคำ (937)

11-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *