บาลีวันละคำ

จากศรีสัตนาคนหุต ถึงกุดลิง (บาลีวันละคำ 938)

จากศรีสัตนาคนหุต ถึงกุดลิง

มีญาติมิตรขอแรงให้แปลชื่อเมือง “ศรีสัตนาคนหุต

ข้อมูลที่พอทราบกันอยู่คือ คำว่า “ศรีสัตนาคนหุต” เป็นชื่อเรียกเมือง “ล้านช้าง

ศรีสัตนาคนหุต” แยกคำได้ว่า ศรี + สัต + นาค + นหุต

(๑) ศรี บาลีเป็น “สิริ” อ่านว่า สิ-ริ และเป็น “สิรี” (สิ-รี) ก็มี

สิริ” แปลตามรากศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้

สิริ” ในภาษาไทยนิยมออกเสียงว่า สิ-หฺริ รูปสันสกฤตเป็น “ศรี” (สี)

สิริศรี” มีความหมายว่า มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, โชค, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง และเป็นนามของเทพธิดาแห่งโชคลาภ (splendour, beauty, luck, glory, majesty, prosperity)

ในที่นี้ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อเพื่อแสดงความยกย่องชื่นชมด้วยความภาคภูมิใจ

(๒) สต บาลีอ่านว่า สะ-ตะ แปลว่า ร้อย (จำนวน 100)

คำนี้เมือใช้ในภาษาไทยอาจสับสนกับ “สต” ที่ลบอักษรหรือลดรูปมาจาก “สตฺต” (สัด-ตะ) ที่แปลว่า เจ็ด (จำนวน 7) ทั้งนี้เพราะ สตฺต (7) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนอกจากเขียนเป็น “สัตตะ” แล้วยังเขียนเป็น “สัต” ซึ่งสะกดเหมือนกันกับชื่อ “ศรีสัตนาคนหุต” นี้เองด้วย

ดังนั้น ถ้าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับภูมิประวัติที่ชัดเจน ก็เป็นทางให้ถกเถียงโต้แย้งกันได้มาก เช่นชื่ออำเภอ “สัตหีบ” ที่แปลตามความเข้าใจของคนส่วนหนึ่งว่าหมายถึง “หีบเจ็ดใบ” ก็อาจจะหมายถึง “หีบหนึ่งร้อยใบ” ได้ด้วยเช่นกัน

(๓) นาค (นา-คะ) แปลได้หลายความหมาย แต่เฉพาะในคำนี้ “นาค” แปลว่า ช้าง ความหมายนี้แปลตามรากศัพท์ว่า “สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา

(๔) นหุต อ่านว่า นะ-หุด บาลีอ่านว่า นะ-หุ-ตะ แปลว่า หมื่น (จำนวน 10,000)

สต + นาค + นหุต = สตนาคนหุต > สัตนาคนหุต แปลตามสำนวนนิยมของบาลีว่า “หมื่นแห่งช้างหนึ่งร้อย” = ช้างร้อยหมื่น= ช้างหนึ่งล้าน = ล้านช้าง

ข้อที่น่าศึกษาสืบค้นก็คือ ชื่อ “ศรีสัตนาคนหุต” นี้เป็นชื่อที่ชาวล้านช้างเรียกเมืองของตัวเองมาแต่เดิม หรือว่าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในภายหลัง ถ้าตั้งในภายหลัง ชาวล้านช้างตั้งเองหรือคนภายนอกตั้งให้

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า แปลงชื่อ “ล้านช้าง” ให้เป็นคำบาลีสันสกตแบบเดียวกับชื่อเมืองเพราะๆ ในภาคอีสานของเราที่แปลงมาจากชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกกัน-เช่นนั้นใช่หรือไม่

ตัวอย่างเช่นชื่อ “วานรนิวาส

วานรนิวาส” เป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดสกลนคร เดิมเป็นหมู่บ้าน เรียกว่า บ้าน “กุดลิง” แขวงเมืองยโสธร

ในรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็นเมืองวานรนิวาส เมื่อ พ.ศ. 2404

คำว่า “กุด” แปลว่า ด้วน สั้น หรือเหี้ยนเข้าไป ทางภาคอีสานหมายถึงลํานํ้าที่ปลายด้วน คือไม่มีทางไหลต่อไป (เทียบได้กับซอยตัน) บริเวณลำน้ำด้วนแห่งนี้มีลิงชุกชุม ชาวบ้านจึงเรียกลำน้ำนั้นว่า “กุดลิง

นักบาลีเอาเสียง “กุด” มาแปลงคำเป็น “กุฏิ

กุฏิ” บาลีอ่านว่า กุ-ติ ไทยเอามาใช้ อ่านว่า กุด (ที่อ่านว่า กุ-ติ ก็มี)

กุฏิ” แปลว่า กระท่อมเล็กๆ ในภาษาไทยเข้าใจกันว่าเป็นที่อาศัยของภิกษุ แต่ความหมายโดยนัยก็คือ “ที่พักอาศัย

จาก “กุดลิง” = ลำน้ำปลายด้วนที่ลิงชุกชุม

แปลงเป็น “กุฏิลิง” = กระท่อมของลิง

แล้วก็กลายรูปงามหรูเป็น “วานรนิวาส” = ที่อยู่อาศัยของลิง

ไม่เหลือร่องรอยของ “กุด” = ลำน้ำปลายด้วน อีกเลย

: แต่ชื่อบ้านเขายังแกล้งมาแปลงกล

: นี่หรือคนจะมิแกล้งมาแปลงใจ

————

(ขยายความจากคำถามของคุณครู Niwat Nangkasem)

#บาลีวันละคำ (938)

12-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *