บาลีวันละคำ

ยมบาล (บาลีวันละคำ 941)

ยมบาล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยมบาล : (คำนาม) เจ้าพนักงานเมืองนรก มีหน้าที่ลงโทษทรมานคนที่ตกนรกตามคําสั่งของพญายม. (ป. ยมปาล ว่า ผู้รักษานรก).

พจน.54 ไม่ได้บอกคำอ่านไว้ที่คำว่า “ยมบาล” แต่ที่คำว่า “ยม-” (ขีดท้ายคำหมายถึงเมื่อมีคำอื่นมาสมาสท้าย เช่นคำว่า “ยมบาล” นี้) บอกคำอ่านไว้ว่า ยม-มะ-

เพราะฉะนั้น “ยมบาล” จึงอ่านว่า ยม-มะ-บาน

ไม่ใช่ ยม-พะ-บาน อย่างที่มักออกเสียงกัน

พจน.54 บอกว่า “ยมบาล” คือ เจ้าพนักงานเมืองนรก

แต่ที่คำว่า “ยม” บอกว่า คือ เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ประจําโลกของคนตาย

(๑) “ยม” บาลีอ่านว่า ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก ยม (ธาตุ = ระวัง, เลี้ยงดู, ปรนปรือ) + ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้คอยระวังเหล่าสัตว์” คือใครทำกรรมอย่างไร ควรไปเสวยผลในภพภูมิไหน ก็นำไปส่งยังภพภูมินั้น เหมือนคนดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในที่ในทาง

(2) “ผู้ปรนปรือ” คือคอยรับใช้มัจจุราชด้วยการนำคนถึงที่ตายไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยม” ว่า the ruler of the kingdom of the dead (ผู้ปกครองอาณาจักรแห่งคนตาย)

สรุปว่า “ยม” หมายถึง ความตาย หรือโลกแห่งความตาย (death, world of the dead) ไม่ใช่นรกหรือสวรรค์โดยเฉพาะ

(๒) “บาล” บาลีเป็น “ปาล” (ปา-ละ) แปลว่า ยาม, ผู้รักษา, ผู้คุ้มครอง, ผู้ป้องกัน (a guard, keeper, guardian, protector)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

บาล : เลี้ยง, รักษา, ปกครอง, เช่น บาลเมือง, โดยมากใช้เป็นคําหลังสมาส เช่น โลกบาล รัฐบาล นครบาล โคบาล นิรยบาล”

ยม + ปาล = ยมปาล > ยมบาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแลรักษาโลกแห่งความตาย” ตามรูปความที่อธิบายกันมาหมายถึง ผู้ทำหน้าที่นำคนตายไปยังโลกแห่งความตายแล้วดำเนินกรรมวิธีตรวจสอบว่าใครทำบุญทำบาปไว้อย่างไร แล้วนำไปส่งยังภพภูมิที่สมควรได้เสวยผลแห่งกรรมนั้นๆ

ข้อมูล : ตรวจดูในคัมภีร์หลักๆ แล้ว ยังไม่พบคำว่า “ยมปาล” โดยตรง แต่มีคำว่า

นิรยปาล (นิ-ระ-ยะ-ปา-ละ) = ผู้ดูแลเมืองนรก (a guardian of purgatory) น่าจะเป็นคำนี้ที่เรามักเข้าใจกันในชื่อ “ยมบาล

ยมทูต (ยะ-มะ-ทู-ตะ) = ทูตของพญายม (Death’s messenger)

ยมปุริส (ยะ-มะ-ปุ-ริ-สะ) = ยมบุรุษ, คนของพญายม

ยมโลก (ยะ-มะ-โล-กะ) = โลกแห่งความตาย, โลกของคนตาย

: อย่าติดสินบนจนติดสันดาน

: เพราะยมบาลไม่รับสินบน

————

(ตามคำถามของ Tee Kub ผู้เกิดข้อสงสัยในคำว่า “บาล”)

#บาลีวันละคำ (941)

15-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *