วาริช (บาลีวันละคำ 942)
วาริช
อ่านว่า วา-ริด
ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า วา-ริด-ชะ- เช่น –
วาริชภูมิ (อำเภอในจังหวัดสกลนคร ชื่อเดิม “บ้านปลาเป้า”) อ่านว่า วา-ริด-ชะ-พูม
วาริชศาสตร์ (Aquatic Science) อ่านว่า วา-ริด-ชะ-สาด
“วาริช” บาลีอ่านว่า วา-ริ-ชะ
ประกอบด้วยคำว่า วาริ + ช
“วาริ” (วา-ริ) รากศัพท์มาจาก วารฺ (ธาตุ = ห้าม, กัน) + ณิ ปัจจัย, ลบ ณ
: วารฺ + ณิ > อิ : วารฺ + อิ = วาริ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ระงับความกระหาย” หมายถึง น้ำ
วาริ ภาษาไทยนิยมใช้ว่า “วารี”
“ช” บาลีอ่านว่า ชะ มาจากรากศัพท์ (ธาตุ) ว่า “ชนฺ” (ชะ-นะ) หมายถึง “เกิด”
: วาริ + ช = วาริช (วา-ริ-ชะ) แปลตามศัพท์ว่า “เกิดในน้ำ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “วาริช” แปลตามตัวว่า “water born” (เกิดในน้ำ)
จะเห็นได้ว่าคำว่า “เกิดในน้ำ” ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าคืออะไร
แต่ในคัมภีร์พบว่า “วาริช” ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ ดอกบัว (lotus) และ ปลา (a fish)
ในภาษาไทย คำนี้ใช้ทั้ง “วาริช” และ “วารีช”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาริช, วารีช : (คำนาม) เกิดแต่นํ้า คือ บัว ปลา. (ป., ส.).”
แต่ใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วาริช” บอกว่า (สะกดตามต้นฉบับ) –
“วาริช : (คุณศัพท์) อันเกิดในน้ำ; aquatic, born in the water;- (คำนาม) เปลือกศังข์; บัว; เกลือ; a conch-shell; a lotus; salt.”
เป็นอันว่า “วาริช” ไม่ได้จำกัดว่าต้องหมายถึง บัว หรือ ปลา เท่านั้น อะไรก็ตามที่โดยธรรมชาติแล้วเกิดมาจากน้ำหรือดำรงสภาพเช่นนั้นอยู่ในน้ำ รวมทั้งกิจกรรมที่ทำเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดในน้ำ ก็สามารถเรียกว่า “วาริช” ได้ทั้งสิ้น
: เกิดที่ไหนก็ไม่ประเสริฐ ถ้าลืมชาติกำเนิดของตัวเอง
———–
(ตามคำถามของ Ekkalak Max ผู้เรียนจบมาทาง Aquatic Science)
16-12-57