บาลีวันละคำ

สบาย (บาลีวันละคำ 940)

สบาย

อ่านว่า สะ-บาย

บาลีเป็น “สปฺปาย” อ่านว่า สับ-ปา-ยะ

สปฺปาย” รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + (ทั่ว, ข้างหน้า) + อา (ทั่ว, ยิ่ง) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (หรือลบนิคหิตแล้วซ้อน ), แปลง อิ ที่ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย แล้วยืดเสียงเป็น อาย ด้วยอำนาจ ปัจจัย, ลบ

: สํ > สปฺ + = สปฺป + อา = สปฺปา + อิ > เอ > อย = สปฺปย + = สปฺปาย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปได้พร้อมทั่วถึง” = อยากจะไป อยากจะทำอะไร ก็ไปได้ทำได้ไม่ติดขัด หมายถึง สิ่งที่เป็นประโยชน์, คุณประโยชน์, การช่วยเหลือ (something beneficial, benefit, help); มีประโยชน์, เหมาะสม, สมควร (beneficial, fit, suitable)

สปฺปาย” ในภาษาไทยใช้ว่า “สบาย” (โปรดสังเกตว่าไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ -) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) อยู่ดีกินดี เช่น เดี๋ยวนี้เขาสบายขึ้น ลูก ๆ ทำงานหมดแล้ว, เป็นสุขกายสุขใจ เช่น เวลานี้เขาสบายแล้ว เพราะมีฐานะดีขึ้น ไม่มีวิตกกังวลใด ๆ.

(2) สะดวก เช่น ทำตามสบายไม่ต้องเกรงใจ มีรถส่วนตัวสบายกว่าไปรถประจำทาง, มักใช้เข้าคู่กับคำ สุข หรือ สะดวก เป็น สุขสบาย หรือ สะดวกสบาย.

(3) พอเหมาะพอดี เช่น เก้าอี้ตัวนี้นั่งสบาย.

(4) ไม่ลำบากกาย เช่น เขาทำงานสบายขึ้น ไม่ต้องแบกหามเหมือนเมื่อก่อน.

(5) ไม่เจ็บไม่ไข้ เช่น เวลานี้เขาสบายดี ไม่ป่วยไข้.

(6) มีความพอใจเมื่อได้สัมผัส เช่น สบายหู สบายตา สบายกาย.

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [286] ประมวลสิ่งที่หลักพระพุทธศาสนาจัดเป็น “สัปปายะ” ที่จะเอื้ออำนวยให้การปฏิบัติธรรมได้ผลก้าวหน้ามาแสดงไว้ดังนี้ :

สัปปายะ 7: สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เอื้อต่อการอยู่ดีและการที่จะพัฒนาชีวิต, สิ่งที่เหมาะกัน อันเกื้อหนุนในการเจริญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย (beneficial or advantageous conditions; suitable or agreeable things; things favorable to mental development)

1. อาวาสสัปปายะ (อาวาสะ-) : ที่อยู่อันเหมาะ เช่น ปลอดภัย ไม่พลุกพล่านจอแจ (suitable abode) บางแห่งเรียก เสนาสนสัปปายะ

2. โคจรสัปปายะ (โคจะระ-) : แหล่งอาหารอำนวย ที่เที่ยวบิณฑบาตที่เหมาะดี เช่น มีหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป (suitable resort)

3. ภัสสสัปปายะ (ภัสสะ-) : การพูดคุยที่เหมาะกัน เช่น พูดคุยเล่าขานกันแต่ในกถาวัตถุ 10 และพูดแต่พอประมาณ ข่าวสารและสื่อสารที่เอื้อปัญญา (suitable speech) บางแห่งเรียก ธัมมัสสวนสัปปายะ

4. ปุคคลสัปปายะ (ปุคคะละ-) : บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน เช่น มีท่านผู้ทรงคุณธรรม ทรงภูมิปัญญาเป็นที่ปรึกษาเหมาะใจ (suitable person)

5. โภชนสัปปายะ (โภชะนะ-) : อาหารที่เหมาะกัน เช่น ถูกกับร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ ฉันหรือรับประทานไม่ยาก (suitable food) บางแห่งเรียก อาหารสัปปายะ

6. อุตุสัปปายะ (อุตุ-) : ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะ เช่น ไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไป เป็นต้น (suitable climate)

7. อิริยาปถสัปปายะ (อิริยาปะถะ-) : อิริยาบถที่เหมาะกัน เช่น บางคนถูกกับจงกรม บางคนถูกกับนั่ง ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวที่พอดี มีอิริยาบถสมดุล (suitable posture)

: ถ้าปรับใจให้สบาย อะไรๆ ก็เป็นสัปปายะ

: ถ้าใจยังเกะกะ ร้อยสัปปายะก็ไม่สบาย

#บาลีวันละคำ (940)

14-12-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *