บาลีวันละคำ

วิกลจริต (บาลีวันละคำ 1,705)

วิกลจริต

อ่านว่า วิ-กน-จะ-หฺริด

ประกอบด้วย วิกล + จริต

(๑) “วิกล

บาลีอ่านว่า วิ-กะ-ละ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + กลฺ (ธาตุ = ตัด, ฉีก, ขาด) + ปัจจัย

: วิ + กลฺ = วิกลฺ + = วิกล (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “อันถูกตัดให้แปลกไป” หมายถึง บกพร่อง, ขาดแคลน, ถูกตัด, ปราศจาก (defective, in want of, deprived, [being] without)

วิกล” ทั้งบาลีและสันสกฤตเป็นรูปเดียวกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิกล : (คำคุณศัพท์) อันยุ่ง, อันปั่นป่วน; วิการ, พิการ, อสมบูรณ์; อันเสื่อมสิ้น, อันแรมหรือลดความแจ่มดวง; confused, agitated; defective, imperfect; decayed, waned; – (คำนาม) เศษหนึ่งส่วนหกสิบของกลา, วินาฑีขององศา; one-sixtieth part of a Kala, the second of a degree.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิกล : (คำวิเศษณ์) ไม่ปรกติ, แปลกไป, ไม่สมบูรณ์, อ่อนแอ, เช่น รูปร่างวิกล หน้าตาวิกล, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ วิการ เป็น วิกลวิการ เช่น รูปร่างวิกลวิการ. (ป., ส.).”

(๒) “จริต

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + (ปัจจัย) ลง อิ อาคมหน้าปัจจัย

: จรฺ + อิ + = จริต แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติแล้ว

จริต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

1 ถ้าใช้เป็นคำนาม หมายถึง การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ (action, behaviour, living)

2 ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ (going, moving, being like, behaving)

คำว่า “สุจริต” “ทุจริต” ที่เราพูดกัน ก็มาจาก “จริต” คำนี้

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2544 บอกไว้ว่า

จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”

ในทางธรรม “จริต” หมายถึงพื้นนิสัย หรือลักษณะทางอารมณ์ของคนที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นปกติ ท่านแบ่งจริตของคนเป็น 6 กลุ่ม คือ

1. ราคจริต หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจซาบซึ้งง่าย (คู่กับ 4)

2. โทสจริต หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด (คู่กับ 5)

3. โมหจริต หนักไปทางเหงาซึมงมงาย ลังเล (คู่กับ 6)

4. สัทธาจริต หนักไปทางเชื่อง่าย มักคล้อยตาม (คู่กับ 1)

5. พุทธิจริต หนักไปทางคิดพิจารณาหาเหตุผล เชื่อยาก (คู่กับ 2)

6. วิตกจริต หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน (คู่กับ 3)

วิกล + จริต = วิกลจริต แปลตามศัพท์ว่า “จริตอันบกพร่อง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิกลจริต : (คำวิเศษณ์) มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปรกติเพราะสติวิปลาส เช่น เขาเป็นคนวิกลจริต ร้องไห้บ้างหัวเราะบ้างโดยไม่มีสาเหตุ, เป็นบ้า.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สาธุชนย่อมไม่วิกลจริต

: แต่คนทำผิด จริตมักจะวิกล

3-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย